ขันแดงแสลงใจ
คอลัมน์ : ถนนประชาธิปไตย
ผู้เขียน : สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ
เรื่องที่ไม่น่าจะเป็นเรื่องก็กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาได้ภายใต้บริบทของรัฐบาลเผด็จการทหารสุดขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั่นคือเรื่อง "ขันแดง" ที่จะนำมาสู่การคลายร้อนในเทศกาลสงกรานต์ 2559 นี้
เริ่มตั้งแต่วันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ไทยรัฐได้ลงภาพข่าวและข้อความบรรยายในหน้า 1 ถึงสตรีคนหนึ่งถ่ายรูปคู่กับขันสีแดงและเขียนบรรยายภาพว่า "สงกรานต์ม๋วนใจ๋ ชาวบ้านใน จ.เชียงใหม่ ยิ้มปลื้มอวดขันน้ำสีแดงที่เขียนคำอวยพร "สวัสดีสงกรานต์ปีใหม่ไทย 2559" จากนายทักษิณ ชินวัตร และ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งมีแจกไปในชุมชนต่างๆให้ชาวบ้านได้ใช้สาดน้ำเล่นสงกรานต์ที่จะมีการจัดงานประหยัดน้ำเล่นสงกรานต์หรือปีใหม่เมืองเจียงใหม่" และมีภาพอดีตนายกฯทักษิณและยิ่งลักษณ์แสดงท่าสวัสดี
กล่าวกันว่าภาพนี้ทำให้ผู้นำทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เกิดการแสลงใจ ดังนั้น ในบ่ายวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 33 จึงได้ควบคุมตัวธีรวรรณ เจริญสุข ชาวบ้านสันกำแพงที่อยู่ในภาพ ไปฝากขังที่ทัณฑสถานหญิงเชียงใหม่ โดยแจ้งข้อหาว่าแสดงภาพขันน้ำขัดความมั่นคง และจะนำตัวไปขึ้นศาลทหารตามมาตรา 116 ประกอบประกาศ คสช. ฉบับที่ 37
แม้ต่อมาธีรวรรณจะได้รับการประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท แต่ในวันที่ 30 มีนาคม เจ้าหน้าที่ทหารก็ได้เรียกตัวนายชัยพินธ์ ขัติยะ ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐภาคเหนือ ไปพูดคุยทำความเข้าใจในค่ายกาวิละ โดยอธิบายว่าเรื่องขันสีแดงนี้มี "ความละเอียดอ่อน" การนำเสนอข่าวอาจสร้างความแตกแยก และพยายามถามหาผู้ถ่ายภาพดังกล่าว จนผู้สื่อข่าวไทยรัฐต้องอธิบายว่าภาพนี้นำมาจากโซเชียลมีเดีย และการเสนอข่าวก็ไม่ได้มีนัยทางการเมือง เพียงแต่จะทำข่าวรณรงค์ให้ประหยัดน้ำในช่วงสงกรานต์เท่านั้น
ความจริงต้องถือว่าการดำเนินการเช่นนี้ของ คสช. เป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องชอบธรรมอย่างยิ่ง เพราะตามมาตรา 116 ที่อ้าง อธิบายความผิดไว้ว่า ต้องเป็นการกระทำที่จะก่อให้เกิด "การเปลี่ยนแปลงในกฎหมาย รัฐบาล ด้วยการใช้กำลัง ข่มขืนใจ หรือทำให้เกิดความปั่นป่วนจนสร้างความไม่สงบขึ้นในประเทศ หรือทำให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแต่อย่างใด"
แต่เรื่องขันสีแดงไม่มีลักษณะเช่นนั้นเลย กรณีนี้จึงเป็นที่วิจารณ์ในทางตลกขบขันในหลายสื่อว่า คณะทหารไทยวิตกจริตจนเกินเหตุ การดำเนินการดังกล่าวยิ่งทำให้กระบวนการทางกฎหมายไทยถูกมองว่ากลายเป็นสิ่งเหลวไหลมากยิ่งขึ้น
แต่เหตุการณ์ก็ไม่ได้ยุติลง เพราะวันที่ 3 เมษายน คณะทหารจากมณฑลทหารบกที่ 38 และเจ้าหน้าที่ตำรวจเมืองน่าน พากันไปตรวจค้นบ้านที่ อ.เมือง ของนางสิรินทร รามสูต อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย โดยอ้างว่า ได้สืบทราบว่าที่บ้านหลังดังกล่าวมีขันสีแดงที่มีข้อความและลายเซ็นของอดีตนายกฯทักษิณไว้ในครอบครอง จึงได้มีการตรวจค้นและยึดขันน้ำสีแดงได้รวมทั้งสิ้น 8,862 ใบ จากนั้นได้ไปตรวจค้นสำนักงานที่ อ.ปัว ของนายณัฐพงษ์ สุปริยศิลป์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ยึดขันสีแดงได้ 1,100 ใบ และค้นสำนักงานของ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย ที่ อ.เวียงสา ยึดขันแดงได้อีก 1,500 ใบ โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าขันน้ำสีแดงทั้งหมดเข้าข่ายความผิดต่อความมั่นคงของชาติ
น่าจะเป็นเพราะการจับกุมและยึดขันน้ำสีแดงของฝ่ายเจ้าหน้าที่ทั้งหมดอ้างกฎหมายตามอำเภอใจและไม่เห็นเป็นความผิดที่ชัดเจน ในวันที่ 3 เมษายน พล.อ.ประยุทธ์จึงอธิบายกรณีนี้โดยโยงเข้ากับศาสนาว่า "บางกรณีที่อาจไม่เข้าข่ายความผิดก็ต้องไปตรวจสอบถึงเจตนาของผู้แจก ซึ่งเห็นว่าการกระทำบางอย่างควรจะละอายต่อบาปหรือมีหิริโอตตัปปะ แม้จะนับถือพระพุทธศาสนาก็ไม่ควรจะเลือกถือศีลบางข้อ ควรยึดถือและปฎิบัติทุกข้อ" แต่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้กล่าวเลยว่าการมีขันสีแดงในครอบครองเป็นบาปอย่างไร ยิ่งทำให้หลักเหตุผลดูไร้สาระมากขึ้น เพราะเรื่องบาปกับเรื่องผิดกฎหมายไม่อาจถือเป็นเรื่องเดียวกันได้เลยในทางนิติธรรม
กรณีเรื่องการจับกุมขันสีแดง เมื่อพิจารณาร่วมกับเรื่องอื่นที่ คสช. กระทำ เช่น การจับนักการเมืองที่เห็นต่างไปปรับทัศนคติ หรือความพยายามที่จะใช้กฎหมายไปจับกุมผู้ที่แสดงทัศนคติคัดค้านรัฐธรรมนูญ ยิ่งเป็นการย้ำถึงความไร้หลักการและไร้เหตุผลของกลุ่มทหารที่ปกครองบ้านเมือง
แต่ที่น่าแปลกใจคือ ในความไร้เหตุผลเช่นนี้ พวกอนุรักษ์นิยมและกลุ่มเหลืองสลิ่มยังหลับตาอธิบายความชอบธรรมของการรัฐประหารและสร้างกระแสเชียร์รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยอย่างไร้เหตุผล
บทความนี้ขอจบด้วยบทกวี "กลุ่มอาการขันแตก" ของเกษียร เตชะพีระ คือ
"อำนาจยิ่งแผ่กว้างถ่างแขนขา
ถึงขันน้ำกะโหลกกะลาไม่ปราศรัย
ชูสามนิ้วแซนด์วิชมันผิดใจ
สั่งกรีธาทัพไปทุกมณฑล
คือนิยามสิ่งต่างต่างกว้างทุกทิศ
นี่ก็ผิดนั่นก็ผิดทุกแห่งหน
การต่อต้านพาลง่ายคล้ายเล่นกล
ศัตรูปรากฏตนไม่หยุดเอย"
No comments:
Post a Comment