ประชาธิปไตยไม่เคยได้มาจาก การร้องขอ ในทุกๆ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ตรงกัน พืชพันธุ์ประชาธิปไตย เติบโตได้ดีจากคราบเลือดและหยาดน้ำตาของเหล่า "วีรชน" เท่านั้น
———————————————————————
คำตอบสู่อนาคตที่ยั่งยืน ของขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยสยาม
ศิวา มหายุทธ์
ผ่านไปเกือบ 2 ปีนับแต่ คณะทหารทำรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม2557 ความพยายามสถาปนาอำมาตยาธิปไตยอนุรักษ์นิยมเหนือสังคมและรัฐสยามระลอกใหม่อย่างเข้มข้นยังคงดำเนินต่อเนื่องโดยผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุด ที่ย้อนยุคกลับไปมากกว่า 30 ปี ท่ามกลางการแสดงออกซึ่งพฤติกรรมของอำนาจรัฐเผด็จการอำมาตยาธิปไตยที่คล้ายคลึงกับบรรยากาศของรัฐในนวนิยาย 1984 ของจอร์จออร์เวลล์ และ นิทานเด็กอังกฤษ อลิซในแดนมหัศจรรย์ ซึ่งกำลังเคลื่อนย้ายจากเผด็จการอำนาจนิยมเข้าสู่ภาวะเผด็จการเบ็ดเสร็จเข้าไปทุกขณะ(และไม่ได้เหนือการคาดเดา) โดยเฉพาะการสร้าง"รัฐทหาร"อย่างเบ็ดเสร็จ (ที่ชัดเจนสุดคือการมอบให้อำนาจทหารทำการแทนตำรวจและหน่วยงานพลเรือนอื่นเต็มที่) แต่ที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่งคือขบวนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพ และ ความยุติธรรมของผู้รักประชาธิปไตย ยังไม่สามารถตั้งขบวนที่มีประสิทธิภาพในการตีโต้เชิงรุกต่อพลังของพันธมิตรเผด็จการอำมาตยาธิปัตย์ที่นำโดยกองทัพได้เลยแม้แต่น้อยยังคงมียุทธศาสตร์ที่แตกกระจาย อาศัยประสบการณ์เดิมๆอย่างอ่อนเปลี้ย ไม่สามารถสร้างเงื่อนไข"กินข้าวทีละคำ เพือ่กินทั้งสำรับ"ได้เลย ตกเป็นฝ่ายตั้งรับอย่างไร้กระบวนท่าและขาดเอกภาพ
–
ในระยะยาว หากขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยยังดำรงสภาพเช่นนี้ โอกาสในการสถาปนาอำนาจรัฐประชาธิปไตยที่ยั่งยืนยังคงมืดมนยิ่งกว่าหลายเท่า แม้ว่าเราจะได้เห็นการพังทลายของรัฐบาลเผด็จการเป็นครั้งคราวแต่ก็จะยากที่จะหลุดพ้นจากวัฏจักรชั่วร้ายของพลังเผด็จการที่หวนคืนมาไม่จบสิ้นอย่างมั่นคงได้
–
ความพยายามสถาปนาอำนาจรัฐอำมาตยาธิปไตยอนุรักษ์นิยมภายใต้คำขวัญสวยหรูว่าปฏิรูปประเทศ แม้จะถูกต่อต้านจากขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตย แต่ความพยายามรุกคืบของพวกมันก็ยังคงได้รับการยอมรับจากหลายภาคส่วนที่เป็นพันธมิตรซึ่งมีปริมาณอยู่ค่อนข้างมากพอสมควรและมีการจัดตั้งที่แข็งแกร่ง นับแต่
–
1) ผู้นำและอดีตผู้นำกองทัพระดับกลางและสูง ที่ได้เสวยสุขจากการเถลิงอำนาจเหนือรัฐอย่างเบ็ดเสร็จการเคลื่อนตัวของนายทหารและอดีตนายทหารตำนานสำคัญในรัฐวิสาหกิจอย่างมากมายไม่ต่างจากยุคถนอม-ประภาส และ งบประมาณทางทหารที่เพิ่มมากขึ้น ไม่นับรายได้พิเศษจากการบริจาค(แท้จริงคือการปล้นธรรมดา)ในโครงการนอกงบประมาณที่คิดขึ้นมาอีกต่างหาก
–
2) กลุ่มชนชั้นสูง (รวมชนชั้นปกครองเก่าที่หวังทวงอำนาจกลับคืน)และนายทุนผูกขาดใหญ่ ที่มุ่งหวังยึดกุมอำนาจเหนือเพื่อรักษาส่วนแบ่งจากส่วนเกินทางเศรษฐกิจจากการผูกขาดตัดตอนธุรกิจเหนือกลุ่มอื่นในสังคมผ่านสายสัมพันธ์สมคบคิดระหว่างทุนใหญ่–กองทัพ-ข้าราชการระดับสูง-เครือข่ายราชสำนัก
–
3) ชนชั้นกลางในเขตเมืองใหญ่ที่เบื่อหน่ายและรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัยทางจิตใจและสถานภาพทางสังคมที่คุ้นเคยกับระบบสายสัมพันธ์ทางผลประโยชน์ที่คุ้นเคยจากข้อรังเกียจร่วมต่อบทบาทของนักเลือกตั้งอาชีพ-ระบบการเมืองแบบตัวแทน และการชุมนุมทางการเมืองที่เกิดจากความขัดแย้งของกลุ่มพลังต่างๆโดยเฉพาะการปรากฏตัวเพื่อขอมีส่วนร่วมในอำนาจของพลังใหม่ที่เป็นชนชั้นกลางในต่างจังหวัดและชนชั้นรากหญ้าที่เคยถูกกีดกันให้อยู่นอกระบบสายสัมพันธ์ดังกล่าว
–
4)ข้าราชการหรือพนักงานในองค์กรรัฐที่มีจำนวนมากกว่า 1.5 ล้านคน ที่คุ้นเคยกับการรักษาพื้นที่ทางอำนาจนำ และระบบทำงานเช้าชามเย็นชามทีเน้นความสำคัญของเจตนารมย์ของมวลชนต่ำกว่าเจตนารมณ์ของรัฐรู้สึกเกลียดชังนักการเมืองจากการเลือกตั้งทุกระดับในฐานะคนนอก ที่มีอำนาจผ่านกลไกทางลัดของการเลือกตั้งมาอยู่เหนือพวกเขาอย่างขาดความชอบธรรม
–
5)กลุ่มนักพัฒนาเอกชนประเภทโลกสวยที่แพร่กระจายความเกลียดชังระบบการเมืองแบบตัวแทนผ่านการเลือกตั้งแต่มุ่งสร้างการเมืองโดยตรงที่ผิดเพี้ยนของประชาชน ถึงขั้นยอมสมคบคิดกับพลังเผด็จการเพื่อหวังว่าจะสามารถมีประชาธิปไตยโดยตรงผ่านตัวแทนบางคนของพวกเขาโดยช่องทางการสรรหาหรือลากตั้งอย่างไม่ตะขิดตะขวงใจ
–
6) ประชาชนทั่วไปที่มีความภักดีต่อสถาบันกษัตริย์ เข้าใจและเชื่ออย่างสนิทใจ จากผลลัพธ์ของกระบวนการกล่อมเกลายาวนานว่าขบวนแถวประชาธิปไตยและการเคลื่อนไหวเพื่อเสรีภาพทุกชนิดล้วนเป็นภัยต่อความมั่นคงของรัฐและบ่อนทำลายสถาบันกษัตริย์
–
7) อดีตนักสู้เพื่อประชาธิปไตยในอดีต ที่เปลี่ยนสีแปรธาตุมาเอาชื่อเสียงในอดีตมาทำภารกิจเป็นฐานสนับสนุนและกระบอกเสียงพลังอำมาตยาธิปไตยอย่างเปิดเผย เพื่อแสวงหาลาภยศและอำนาจส่วนบุคคล
–
8) พรรคการเมืองฉวยโอกาส รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ ที่พร้อมจะยอมตน"กินเศษเนื้อข้างเขียง"ผ่านการเล่มเกมหลายหน้าสนับสนุนและร่วมมือในหลักการหรือสาระสำคัญกับอำนาจเผด็จการ แต่คัดค้านในประเด็นสัพเพเหระปลีกย่อยเพื่อเรียกเพิ่มในการต่อรองผลประโยชน์ส่วนตัวในที่ลับ
–
กลุ่มผู้สนับสนุนและพันธมิตรพลังเผด็จการอำมาตยาธิไตยทั้ง8 กลุ่มนี้ แม้ว่าบางครั้งจะขัดแย้งกันเองภายในเป็นครั้งคราวหรือบ่อยครั้งแต่จุดยืนร่วมของพวกเขาในการบดขยี้พลังประชาธิปไตยยังเข้มข้นเหนียวแน่น ล้วนเป็นภาระอันหนักอึ้งที่ขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยต้องฝ่าฟันและก้าวข้ามไปให้ได้
–
การเอาชนะพลังอำมาตยาธิไตยที่ค่อนข้างยากลำบากเช่นนี้จำเป็นต้องระดมสรรพกำลังที่เป็นเอกภาพของขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยอย่างมีการจัดตั้งที่แน่นอนแต่ยืดหยุ่น เพื่อไปบรรลุเป้าหมาย ไม่ใช่การพึ่งพายุทธศาสตร์"ซุ่มซ่อนยาวนาน สะสมกำลัง รอคอยโอกาส"(ที่บางครั้งเป็นแค่ข้อแก้ตัวอำพรางความไร้ประสิทธิภาพของการจัดตั้ง)เพื่อที่จะวาดหวังว่าการเสื่อมถอยของพลังอำมาตยาธิไตยจะเกิดขึ้นเองจากปัจจัยที่เพ้อฝันดังต่อไปนี้คือ
–
1) พลังเผด็จการพังทลายจากความขัดแย้งภายในที่ประนีประอมกันไม่ได้ของบรรดาผู้สนับสนุนหรือพันธมิตร ผ่านการรัฐประหารซ้อน หรือยืมหรือพึ่งพลังประชาธิปไตยเป็นพลังหนุนในการโค่นอำนาจกันเอง
–
2) มุ่งหวังให้ประชาคมโลกปิดล้อมเผด็จการจนยอมคืนอำนาจให้ประชาชน
–
3) มุ่งหวังให้เศรษฐกิจภายใต้อุ้งเท้ารัฐบาลเผด้จการพังทลาย จนขาดความชอบธรรม
–
4) มุ่งหวังว่าการเปลี่ยนผ่านตัวกษัตริย์จะนำไปสู่แสงสว่างใหม่ของกษัตริย์นักประชาธิปไตยในอุดมคติแบบสเปน ญี่ปุ่น อังกฤษ หรือสวีเดน
การพูดถึงความเป็นไปไม่ได้ในการสถาปนาอำนาจรัฐประชาธิปไตยในที่นี้ไม่ใช่เพื่อชี้ถึงความสิ้นหวัง แต่ต้องการวิเคราะห์เงื่อนไขและสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตว่าตราบใดที่ขบวนแถวของผู้รักประชาธิปไตย ที่รักความยุติธรรม และเชิดชูเสรีภาพของประชาชนยังไม่สามารถค้นหา"สูตรแห่งชัยชนะ"ในการต่อสู้ทุกเวทีทางอำนาจ (การต่อสู้ในรัฐสภาการต่อสู้บนท้องถนน การต่อสู้ในเวทีสื่อ การต่อสู้ในเวทีสากล และการต่อสู้ด้วยกองกำลัง)แล้วยังไม่สามารถกำหนดยุทธศาสตร์ และจังหวะก้าวไปสู่กระบวนการต่อสู้เพื่อ"กินข้าวทีละคำเพื่อกินหมดทั้งสำรับ"แล้ว รัฐประชาธิปไตยที่จะเกิดขึ้นหลังอำนาจรัฐเผด้จการพังทลายในอนาคตย่อมไม่มีทางยั่งยืน เพราะอำนาจเผด็จการรูปแบบใหม่ อาจย้อนคืนมาแย่งยึดกลับไปอีกได้อย่างง่ายดายหากมีเงื่อนไขในการทวงอำนาจคืนสุกงอม ภายใต้ข้ออ้างที่เราได้เห็นซ้ำซากในรอบ 84ปีนับแต่ พ.ศ. 2475 เป็นต้นมาคือ"รักษาความสงบ รักษาความมั่นคง ป้องกันและขจัดคนโกงและ รักษาสถาบันกษัตริย์"
–
เป้าหมายของขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยในระยะเฉพาะหน้าต้องมุ่งไปที่การโค่นล้มอำนาจเผด็จการอำมาตยาธิปไตยเพื่อทวงคืนประชาธิปไตยกลับคืนมาไม่ได้ผิดพลาด แต่หากขบวนแถวนี้ต้องละเลยที่จะสร้างเป้าหมายระยะยาวของการสถาปนารัฐประชาอธิปไตยที่แท้จริงนั้นคือเปลี่ยนแปลงอำนาจรัฐสยามที่รวมศูนย์กระจุกในปัจจุบัน ไปสู่โครงสร้างและระบอบใหม่ที่กระจายศูนย์โดยมวลประชาชนที่รักความยุติธรรมและเสรีภาพ สามารถควบคุมเจตนารมย์และปฏิบัติการของรัฐ ได้ทั้งการใช้อำนาจทางตรง และทางอ้อมผ่านตัวแทน
–
การเมินเฉยต่อการออกแบบเพื่อสถาปนารัฐประชาธิปไตยที่ยั่งยืนในอนาคตแต่มุ่งหวังภารกิจเฉพาะหน้าเพื่อโค่นล้มเผด็จการอำมาตยาธิปไตยอย่างเดียว จะเป็นการเปิดช่องว่างให้กับ3 ปัจจัยหลักที่ถ่วงรั้งไม่ให้ประชาธิปไตยคืบหน้า ดำรงอยู่ต่อไปอย่างโยงใยกันต่อไปนั่นคือ
–
1) อิทธิพลของชนชั้นนำภาครัฐที่เคยผูกขาดอำนาจการปกครองเหนือสังคมมายาวนานกว่า100ปี จะดำรงอยู่สร้างเงื่อนไขเผด็จการกลับมาซ้ำซาก
–
2) ฐานะครอบงำของวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยมซึ่งไม่สอดคล้องกับระบอบสังคมประชาธิปไตย จะดำรงอยู่อย่างเข้มข้นไม่จบสิ้น
–
3) สภาพที่พลังของขบวนแถวผู้รักประชาธิปไตยที่ไม่มีลักษณะคงเส้นคงวาและเปราะบาง สุ่มเสี่ยงต่อการถูกทำลายทั้งจากภายในแปละภายนอก
–
ที่ผ่านมา ผู้รักประชาธิปไตยได้ผ่านประสบการณ์อันคดเคี้ยวของการต่อสู้โดยเฉพาะนับตั้งแต่เหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมาและได้ประจักษ์ชัดถึงพลังที่หวนกลับมาหลายระลอกของพันธมิตรเผด็จการกลุ่มแล้วกลุ่มเล่าที่มุ่งทำลายโอกาสของประเทศในการที่จะเชื่อมร้อยการเมืองมวลชนเข้ากับการทำงานของระบบรัฐสภาและทำลายพื้นที่สำหรับพรรคการเมืองแบบทางเลือกในตัวระบบรัฐสภา รวมทั้งปฏิเสธการกระจายอำนาจสู่มือประชาชนทุกระดับในทุกรูปแบบแล้วยัดเยียดส่งมอบอำนาจเผด็จการในนามของ"ประชาธิปไตยเทียม(ครึ่งใบหรือชื่ออื่นๆ))"ที่มีเงื่อนไขสร้างรัฐเผด็จการอำนาจนิยมที่เข้มข้น โดยที่นักการเมืองบางส่วนที่พึงพอใจกับการมีส่วนร่วมเพียงแค่"กินเศษเนื้อข้างเขียง"มาช่วยตกแต่งหน้าฉากประชาธิปไตยเทียมเพื่อปกป้องฐานะการนำกลุ่มอำนาจเดิมในฐานะ"คนเชิดหุ่น"เพื่อสมคบคิดร่วมกับกลุ่มทุนผูกขาดยังสามารถหยั่งรากลึกดูดความมั่งคั่งต่อไปให้เนิ่นนานที่สุดเท่าที่เป็นไปได้
–
เผด็จการอำมาตยาธิปไตยและพันธมิตรนั้นไม่มีทาง"ลงจากหลังเสือ"ด้วยตนเอง เพราะพวกมันไม่เคยเพียงพอกับการมีและใข้อำนาจยิ่งพวกมันมีความรู้สึกไม่มั่นคงจากการถูกท้าทายมากเท่าใด และยิ่งรู้ตัวดีว่าขาดความชอบธรรมมากเพียงใดความเข้มข้นของการใช้อำนาจ(รวมทั้งการแปลงร่าง เช่น เปลี่ยนหัว หรือเสริมสวยใหม่) เพื่อปกป้องอำนาจจะเพิ่มขึ้นตามกันอย่างถึงที่สุด
–
ผู้เขียนและคณะขอย้ำอีกครั้งว่าประสบการณ์ลุ่มๆดอนๆของพลังประชาธิปไตยสยาม จะก้าวย่างไปบนแนวทางที่เป็นไปได้อย่างรูปธรรมมากที่สุดไม่ทำการต่อสู้ในสภาพ"ผู้ถูกกระทำ"(ที่รวมเอาการถูกกุมตัวไปปรับทัศนคติด้วยอำนาจเถื่อนของกองทัพ) ต่อเนื่องยาวนานโดยไม่มีพื้นที่ว่างสำหรับชัยชนะเสียเลย เป็นสิ่งที่เป็นไปได้และไม่ยากลำบากเกิน ด้วยการ
-1) เร่งจัดตั้งแนวร่วมประชาธิปไตยทีมีเอกภาพทางยุทธศาสตร์แต่หลากหลายในยุทธวิธี เพราะพลังที่ไร้จัดตั้ง แล้วคาดหวังจะนำไปสู่ชัยชนะ เป็นความเพ้อฝัน
-2) สร้างยุทธศาสตร์ "กินข้าวทีละ เพื่อกินทั้งสำรับ"ด้วยการออกแบบรัฐสยามในอนาคตเป็นสหพันธรัฐ(ดังที่ได้เคยเสนอไว้ในข้อเขียน สหพันธรัฐสยาม คืนจารีตและประวัติศาสตร์ให้ท้องถิ่น,16 กุมภาพันธ์ 2558, มาแล้ว)
–
สหพันธรัฐสยามคือการย้อนรอยโครงสร้างในรูปแบบรัฐเครือข่าย ที่ดัดแปลงจาก"รัฐแสงเทียน"(candle-lightcity states) ของสยามโบราณ ก่อนที่ราชธานีในยุคกรงศรีอยุธยา และต่อมาการปฏิรูปการปกครองพ.ศ. 2430 (ค.ศ.1887) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราชวงศ์จักรีจะทำลายล้างไปจนหมดสิ้น
–
เมืองประเทศราชหรือรัฐแสงเทียนในสยามโบราณสหพันธรัฐสยามได้สร้างตำนานและวัฒนธรรมของสังคมสยามที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์และความเชื่อ เรื่องราวที่ส่งผ่านประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตำนานศาสนา หรือ นิทานพื้นบ้านมากมายทั้งทางตรงและทางอ้อม เป็นประจักษ์พยานของรูปแบบรัฐท้องถิ่นโบราณอย่างลึกซึ้ง
–
รัฐแสงเทียนและชุมชนอิสระเหล่านี้ได้ถูกกวาดต้อนเข้ามาภายใต้โครงสร้างรัฐแบบตะวันตกตั้งแต่การปฏิรูปปกครอง พ.ศ. 2430 ภายใต้แนวคิด"รัฐชาติเดี่ยว"ที่ถอดแบบจากยุคล่าอาณานิคมของตะวันตก จากการเร่งกระชับอำนาจของราชธานีอย่างเข้มข้นเพื่อตอบโต้การคุกคามของตะวันตก แปลงอำนาจและอิสรภาพของหัวเมืองท้องถิ่นเป็นพื้นที่อำนาจส่วนกลางเบ็ดเสร็จจนไม่สามารถสนองตอบความหลากหลายทางชาติพันธุ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิต ภาษา และเจตจำนงท้องถิ่นได้แม้แต่น้อย
–
โครงสร้างรัฐแบบสหพันธรัฐร่วมสมัยของรัฐสยามที่ผู้เขียนและคณะนำเสนอจะเป็นประโยชน์และให้คำตอบที่เหมาะสมพร้อมกัน 2 ด้านเลยทีเดียวคือ
-1) การจัดรูปขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในยุทธศาสตร์และยุทธวิธี
-2) หลังจากขบวนการประชาธิปไตยได้รับชัยชนะแล้ว สร้างรัฐที่อำนวยให้เกิดบูรณาการของประชาธิปไตย(ยุติธรรม เสรีภาพ เสมอภาค และกระจายอำนาจ) ได้ยั่งยืนกว่า
–
ในช่วงเวลาการต่อสู้กับอำนาจรัฐเผด็จการ กลุ่มผู้ร่วมขบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของสยามยังมีความแตกต่างหรือขัดแย้งในเชิงอุดมการณ์และทฤษฎีที่เหลื่อมซ้อนกันอยู่ จนกระทั่งยากที่จะก่อรูปขึ้นมาเป็นองค์กรนำขนาดใหญ่ที่มีเอกภาพได้จำเป็นต้องใช้ยุทธศาสตร์ "เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ"ให้มีการจัดตั้งเป็นอิสระและพึ่งตนเองของหน่วยการต่อสู้ในทุกเวที ภายใต้สภาพที่เป็นจริงของแต่ละพื้นที่เพื่อที่จะเรียนรู้ ยกระดับการจัดตั้งแต่ละพื้นที่ให้เหมาะสมและยืดหยุ่น ผ่านการพึ่งตัวเอง
–
การจัดตั้งอย่างเป็นอิสระและพึ่งตัวเองในแต่ละพื้นที่แต่ประสานกับพื้นที่ต่างๆ จะช่วยให้ขบวนการประชาธิปไตยสยาม ดำเนินการรุกทางการเมืองภายใต้สถานการณ์ที่เป็นจริงพร้อมกับสั่งสมประสบการณ์การต่อสู้ในทุกด้าน (เศรษฐกิจ การชุมนุมเรียกร้องการระดมสมาชิก หรือสร้างแนวร่วม รวมทั้งการยกระดับจิตสำนึกของผู้เข้าร่วมขบวน)เพื่อสร้างแนวร่วมประชาชาติประชาธิปไตย
–
การจัดตั้งแบบสหพันธรัฐในระหว่างการต่อสู้ จะปูทางให้เกิดสภาพของสหพันธรัฐในทางปฏิบัติโดยเบื้องต้นสามารถแบ่งกลุ่มอย่างหยาบๆได้ 6 กลุ่มดังนี้ คือ
-1) ภาคเหนือตอนบน
-2) ภาคเหนือตอนล่าง
-3) ภาคอีสานเหนือ
-4) ภาคอีสานใต้
-5) ภาคตะวันออก
-6) สามจังหวัดภาคใต้
ซึ่งจะทำให้เกิดการการเชื่อมร้อยอดีตเข้ากับปัจจุบันและอนาคตอย่างแนบเนียนไร้รอยตะเข็บ
–
ส่วนพื้นที่อื่นเช่นกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคกลาง และภาคใต้ที่ไม่ใช่สามจังหวัดนั้นเนื่องจากอยู่ใกล้และอยู่ใต้อิทธิพลเข้มข้นของศูนย์อำนาจรัฐเดิมอย่างมาก ในระหว่างการต่อสู้อาจจะไม่สามารถจัดตั้งขบวนต่อสู้ได้อย่างเปิดเผยจึงไม่ได้ระบุถึงรูปธรรมของขบวนการที่ชัดเจน จนกว่าเมื่อได้ชัยชนะเหนืออำนารัฐเผด็จการเดิมไปแล้วก็ถือเป็นภารกิจของมวลชนในพื้นที่ดังกล่าวจะเลือกเอารูปแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่เอง
–
ทางเลือกของยุทธวิธีสร้างกลุ่มจัดตั้งดังกล่าวสามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นกลับมาประยุกต์ใช้อย่างมีพลัง แสดงความเคารพต่อเกียรติและศักดิ์ศรีของพลเมืองในทุกภาคส่วนเป็นการปูทางสร้างรัฐแบบเครือข่ายขึ้นมาแทนที่รัฐชาติเดี่ยว ซึ่งสอดคล้องกับข้อเรียกร้องของมวลชนทั่วโลกที่เรียกร้องหาการลดขนาดรัฐให้เล็กลงสอดคล้องกับพัฒนาการของความรู้และเทคโนโลยีร่วมสมัยของโลกทุกสาขา
–
โครงสร้างกลุ่มจัดตั้งแบบสหพันธรัฐนี้ เมื่อพลังประชาธิปไตยมีสามารถยึดอำนาจรัฐมาได้แล้วจะแปรเปลี่ยนเป็นโครงสร้างรัฐใหม่ที่มีรัฐบาลกลางและท้องถิ่นในรูปแบบรัฐเครือข่ายที่หลากหลาย(อย่างน้อย 6 รูปแบบข้างต้น) ซึ่งสามารถถ่วงดุลกันและกัน สอดคล้องกับวิถีชีวิต วัฒนธรรม และการจัดการเชิงอำนาจของแต่ละพื้นที่อย่างเป็นไปได้ที่สุด
–
รูปแบบจัดตั้งแบบสหพันธรัฐ ที่มีทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง (ทั้งหมดหรือเกือบทั้งหมดเป็นมหาชนรัฐ)ยังสามารถตอบโจทย์สำคัญของสังคมสยามในปัจจุบัน ที่ทหารทำตัวเป็นคนเถื่อนถืออาวุธทำรัฐประหารได้ตามอำเภอใจ เพราะทหารในกองทัพสหพันธรัฐ จะถูกเงื่อนไขให้ไม่สามารถยึดอำนาจรัฐเบ็ดเสร็จได้เลยจำต้องถูกแปรสภาพเป็นกองทัพรัฐบาลกลางที่มีหน้าที่หลักป้องกันประเทศเป็นสำคัญ ไม่ใช่มีภารกิจมุ่งยึดอำนาจสร้างรัฐเผด็จการ
–
สหพันธรัฐ ยังสามารถช่วยให้การจัดเก็บภาษีของรัฐและการใช้จ่ายของรัฐมีประสิทธิภาพสูงขึ้นเนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นจะมีความใกล้ชิดและตอบสนองความต้องการของกลุ่มธุรกิจเอกชนและชุมชนผ่านกระบวนการตรวจสอบหลายขั้นตอนที่มีประสิทธิภาพและถ่วงดุลภายใต้รัฐแบบสหพันธรัฐจะทำให้ผู้รักประชาธิปไตยสยาม สามารถก้าวข้ามคำถามที่วนเวียนแบบวงจรอุบาทว์ทั้งในระหว่างและหลังการต่อสู้กับพลังเผด็จการอำมาตยาธิปไตย
–
ขอย้ำอีกครั้งว่า ข้อเสนอนี้เป็นทางออกที่ผู้รักประชาธิปไตยจะสามารถตอบโจทย์ทั้งระยะสั้นและระยะยาวได้อย่างบูรณาการในการต่อสู้กับเผด็จการอำมาตยาธิปไตยและพันธมิตร
************** ขอขอบคุณ เจ้าของบทความ ************
No comments:
Post a Comment