Friday, April 15, 2016

“จาตุรนต์” ชี้ ประชามติแบบ “มัดมือชก” มีแต่เพิ่มความขัดแย้ง

"จาตุรนต์" ชี้ ประชามติแบบ "มัดมือชก" มีแต่เพิ่มความขัดแย้ง
-

เมื่อวันที่ 15 เมษายน นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรองนายกรัฐมนตรี โพสต์เฟซบุ๊กถึงแนวทางของ คสช.ในการหาทางออกหากรัฐธรรมนูญที่ไม่ผ่านประชามติว่า ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่ายังไม่รู้จะทำอย่างไรก็มีเหตุผลอยู่ มาถึงขั้นนี้ การจะกำหนดให้ชัดลงไปว่าถ้าร่างรัฐธรรมนูญไม่ผ่านในการลงประชามติแล้วจะเจอกับอะไรนั้น อาจจะทำไม่ได้และไม่แน่ว่าจะเป็นผลดีเสียแล้ว เช่น สมมุติ คสช.มอบให้นายวิษณุเป็นคนเตรียมการ และนายวิษณุบอกว่าจะเอาร่าง 3-4 ฉบับมายำเข้าด้วยกัน แต่จะแถมเรื่องนายกฯคนนอกเข้าไปด้วย และเมื่อคำถามพ่วงตกไป แต่เกิดจะให้ ส.ว.มีอำนาจลงมติอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกฯได้ แล้วจะทำกันอย่างไร พูดง่ายๆ ก็คือ หากบอกว่าถ้าไม่ผ่านจะได้รัฐธรรมนูญที่แย่กว่าเดิมแน่ๆ คนก็ต้องจำยอมออกเสียงให้ผ่าน หรือในทางตรงข้าม หากบอกว่าถ้าไม่ผ่านจะได้รัฐธรรมนูญที่ดีกว่าเดิมแน่ๆ คนก็จะออกเสียงไม่ให้ผ่าน

-
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การจัดให้มีการลงประชามตินั้น โดยตัวมันเองหมายความว่า คสช.ยินยอมให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินว่าจะยอมรับร่างที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่ง คสช.แต่งตั้งขึ้นมาร่างภายใต้คำแนะนำของแม่น้ำอีก 4 สายนี้หรือไม่ หากผ่านก็ดำเนินการขั้นตอนต่อไปซึ่งกำหนดไว้แล้ว แต่ถ้าไม่ผ่านแล้วบอกว่า คสช.ก็จะกำหนดเอาตามใจชอบ ก็เท่ากับไม่ให้ประชาชนมีสิทธิเลือกอะไรเลย กลายเป็นออกหัวหรือก้อยก็เป็นตาม คสช.หมด อย่างนั้นไม่อาจเรียกได้ว่าเป็นการลงประชามติ

-
ทางที่ดีที่สุดคือการตั้งประเด็นถามประชาชนไปเสียเลย เหมือนมีคำถามพ่วงเพิ่มขึ้นว่า ถ้าไม่ผ่านจะให้ทำอย่างไร แต่สิ่งนี้คงไม่มีทางเกิดขึ้นเพราะใจไม่กว้างพอ ดังนั้น สิ่งที่จะทำได้และควรทำก็คือ การยืนยันว่าหากไม่ผ่าน จะยอมรับการตัดสินของประชาชนและการดำเนินการต่อไปจะรับฟังความเห็นฝ่ายต่างๆ ให้มากขึ้น

-
นายจาตุรนต์กล่าวว่า การลงประชามติที่เสรีและเป็นธรรมจะช่วยลดความขัดแย้งแตกแยกในสังคม เพราะฝ่ายต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนและรับรู้ข้อมูลและความคิดเห็นอย่างเต็มที่ เมื่อผลออกมาอย่างไร แม้จะมีคนที่ยังไม่เห็นด้วย แต่ก็จะไม่ติดใจและมีโอกาสยอมรับได้มาก แต่ถ้าการลงประชามติทำไปแบบมัดมือชกอยู่ข้างเดียว ผลที่ออกมาก็บอกไม่ได้ว่าเป็นความเห็นของคนส่วนใหญ่ ความไม่พอใจก็จะยังมีอยู่มาก เมื่อปัญหาต่างๆ เกิดขึ้นตามมาในภายหลังก็จะกลายเป็นความขัดแย้งแตกแยกในสังคมอย่างไม่จบไม่สิ้น จากนี้ไปจึงควรจะเปิดโอกาสและส่งเสริมให้มีการแสดงความคิดเห็นได้อย่างเสรี ไม่ใช่ผู้มีอำนาจสามารถพูดชี้นำสนับสนุนได้เต็มที่ แต่ผู้เห็นต่างกลับถูกคุกคาม จำกัดเสรีภาพหรืออิสรภาพอย่างที่เป็นอยู่

Cr. MatichonOnline



No comments:

Post a Comment