บทเรียนสุจินดาถึงประยุทธ์ จำเป็นต้องคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ
-
Thu, 2016-04-07 14:51
-
บุญเลิศ วิเศษปรีชา
-
ย้อนหลังกลับไป วันที่ 7 เมษายน 2535 คือวันที่พลเอกสุจินดา คราประยูร ผู้นำในการรัฐประหาร 23 กุมภาพันธ์ 2534 ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เป็นการรับตำแหน่งที่ทำให้เกิดการต่อต้านอย่างกว้างขวางทันที กระทั่งรัฐบาลสุจินดา ใช้ทหารเข้าปราบปรามประชาชนที่ถนนราชดำเนิน แต่สุดท้ายพลเอกสุจินดา ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากเป็นนายกรัฐมนตรีเพียง 47 วัน และเป็นตราบาปให้กับตัวเองจนถึงทุกวันนี้
-
อันที่จริง การขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีของพลเอกสุจินดา นั้นรัฐธรรมนูญปี 2534 ได้เปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจากการเลือกตั้ง แต่ประชาชนโดยเฉพาะชนชั้นกลางกลับต่อต้าน เพราะเห็นว่า เป็นการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร รสช. (คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ) รวมทั้งไม่อาจยอมรับข้ออ้าง "เสียสัตย์เพื่อชาติ" ที่พลเอกสุจินดา เคยพูดไว้ว่า จะไม่เป็นนายกรัฐมนตรี
-
กรณีพลเอกสุจินดา และเหตุการณ์พฤษภา 35 จะไม่เกิดขึ้นเลย หากรัฐธรรมนูญฉบับปี 2534 ไม่เปิดช่องให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอกเสียแต่แรก ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการคัดค้านตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปี 2534 มีการชุมนุมใหญ่ที่ท้องสนามหลวง ที่ว่ากันว่า เป็นการชุมนุมการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดครั้งแรกนับแต่เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 แต่สภานิติบัญญัติแห่งชาติขณะนั้นกลับเมินเสียงต่อต้าน และผ่านร่างรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้มีนายกฯ คนนอกได้จนนำไปสู่ความรุนแรง
-
จึงกล่าวได้ว่า การประเมินความรู้สึกของประชาชนที่ผิดพลาดของคณะ รสช. และบรรดานักร่างรัฐธรรมนูญ ที่ นายมีชัย ฤชุพันธ์ เป็นประธานคณะกรรมาธิการ เป็นการวางระเบิดเวลาที่รอการปะทุ เพราะไม่เข้าใจว่า ประชาชน ส่วนใหญ่ไม่อาจยอมรับการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร บทเรียนกรณีพลเอกสุจินดา หากนำมาเทียบเคียงกับสถานการณ์การเมืองปัจจุบัน จะบ่งบอกถึงความจำเป็นที่จะต้องโหวตคว่ำรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยไดโนเสาร์เกิดใหม่ฉบับนี้
-
คสช. และ นายมีชัย กำลังประเมินความรู้สึกของประชาชนต่ำเกินไป ทั้งๆที่ โดยข้อเท็จจริง ความไม่รู้สึกพึงพอใจมีอยู่แพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นการต้องอยู่ในระบอบการปกครองที่ประชาชนถูกปิดกั้นการแสดงออก ไม่สามารถเสนอปัญหาและเจรจากับผู้เกี่ยวข้องเหมือนในสังคมประชาธิปไตย ปิดโอกาสการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังเช่น การออกคั่งตามมาตรา 44 ยกเว้นกฎหมายผังเมืองสำหรับการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า รวมถึงการบริหารเศรษฐกิจที่ไร้ความสามารถ ดังตัวเลขการเจริญเติบโจทางเศรษฐกิจถดถอยและการส่งออกที่ถึงขั้นติดลบ
-
เมื่อประเมินความรู้สึกของประชาชนต่ำเกินไป นายมีชัย และ คสช. จึงได้ร่างรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้ คสช. ได้สืบทอดอำนาจ อย่างปราศจากความละอาย เช่น การให้ คสช. มีอำนาจในการแต่งตั้งวุฒิสมาชิก 250 คน การเปิดช่องให้นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องมาจาก ส.ส. การให้อำนาจล้นฟ้ากับศาลรัฐธรรมนูญ ที่ท้ายที่สุดก็จะทำให้อำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้งไร้ความหมาย เพราะคนที่ถูกเลือก ไม่อาจจะตั้งรัฐบาลได้ หรือ จัดตั้งรัฐบาลได้ ก็จะถูกศาลรัฐธรรมนูญหาเรื่องให้พ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีเหตุเพียงพอ
-
ดังนั้นเนื้อหาหลักของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยก็คือ การบั่นทอนอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้ง และสงวนอำนาจไว้สำหรับคณะรัฐประหาร หรือกล่าวให้ชัดขึ้นก็คือ รัฐธรรมนูญ ฉบับนี้ตอกย้ำ ความรู้สึกของประชาชนที่มีอยู่ทั่วไปว่าด้วย ระบบไพร่ – อำมาตย์ ที่อภิสิทธิชนจำนวนน้อยกุมอำนาจโดยไม่ต้องฟังเสียงประชาชน
-
สิ่งที่ผู้นำ คสช. อ้างว่า จำเป็นต้องคุมอำนาจต่อ เพราะต้องการวางรากฐานให้ประเทศในช่วงเปลี่ยนผ่าน เวลาสองปีที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า คสช. นอกจากจะไร้ความชอบธรรมตั้งแต่ต้นที่จะทำตัวเป็นคนมาวางรากฐาน เพราะได้อำนาจมาจากการยึดอำนาจ คสช. ยังไร้น้ำยาที่จะทำให้สังคมที่มีผู้คนที่มีผลประโยชน์แตกต่างหลากหลาย ได้มีพื้นที่ที่จะต่อรองผลประโยชน์ และอยู่ร่วมกัน ดังร่างรัฐธรรมนูญที่ ตอกย้ำอำนาจอันไม่เท่าเทียมกันของประชาชนให้เด่นชัดยิ่งขึ้น แม้แต่ประเด็นพื้นๆ ที่ไม่ว่า คนกลุ่มไหน สีไหน ก็น่าจะเห็นพ้องด้วย คือ การให้หลักประกันการศึกษาฟรีในชั้น ม.ปลายและอาชีวศึกษา ที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้ กลับถูกตัดออกไป เป็นบั่นทอนโอกาสของเยาวชนที่จะเป็นอนาคตของสังคม
-
ดังนั้น สิ่งที่ คสช. และ นักยกร่างรัฐธรรมนูญกำลังทำอยู่ จึงไม่ใช่อะไร นอกจากการย่ามใจว่า สามารถใช้อำนาจคุมประชาชนได้อย่างเบ็ดเสร็จ โดยไม่ตระหนักบทเรียนกรณีพลเอกสุจินดาที่กุมอำนาจสามเหล่าทัพและมีพรรคการเมืองอยู่ในการควบคุม แต่สุดท้ายก็ยังถูกขับไล่ลงจากอำนาจ
-
พลเอกประยุทธ์ และพวก ไม่ตระหนักว่า สถานภาพของพวกเขาจะเปลี่ยนไปในทันที เมื่อใครก็ตามใน คสช.ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้ง เพราะพวกเขาจะไม่มีอำนาจพิเศษในการควบคุมประชาชน เหมือนเช่นทุกวันนี้ที่ใช้ มาตรา 44 ลิดรอนสิทธิของประชาชน การนำตัวพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร โดยไม่มีเหตุอันควร รวมถึงการคุกคามประชาชน ภายใต้คำพูดว่า นำตัวไปปรับทัศนคติ ทั้งๆ ที่ ผู้นำคสช. ต่างหากที่ควรจะเปลี่ยนทัศนคติของตนเองที่มีต่อประชาชน เลิกคิดเสียว่า มีแต่กลุ่มของตนกลุ่มเดียวที่หวังดีต่อส่วนรวม
-
คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ คือทางออกจากวงจรอุบาทว์อย่างสันติ
-
สำหรับประชาชนทั่วไป การตัดสินใจลงประชามติ อาจจะเป็นการตัดสินใจที่ยาก ด้วยเหตุผลสองประการ คือ หากอยากให้การเลือกตั้งกลับมาเร็วก็ควรผ่านรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กับความหวังว่า แม้รัฐธรรมนูญจะไม่ดีก็ควรให้ผ่านก่อนแล้วไปแก้ไขภายหลัง
-
อย่างไรก็ดี เหตุผลสองประการนี้ ยังไม่มีน้ำหนักมากพอชวนให้โหวตผ่านรัฐธรรมนูญ เพราะต่อให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับมีชัยนี้ การเลือกตั้งที่กลับมาก็จะไร้ความหมาย เพราะถึงที่สุด คณะบุคคลที่ไม่ต้องลงเลือกตั้ง ไม่ต้องเสนอนโยบายแข่งกันให้ประชาชนเลือก จะเป็นผู้ผูกขาดและควบคุมการใช้อำนาจ ผ่าน ส.ว. และองค์กรอิสระ สอง ความหวังที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นเลือนรางมาก เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญมีเงื่อนไขที่เป็นไปได้ยากมาก โดยกำหนดว่า จะต้องมี ส.ส. 10 เปอรเซนต์ของทุกพรรคการเมืองในสภาร่วมด้วย ดังนั้น หากพรรคใดพรรคหนึ่งไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ทำให้การแก้ไขเกิดขึ้นไม่ได้
-
ดังนั้น ทางเลือกการโหวตโนจึงดีกว่าปล่อยให้คสช.ย่ามใจ ใช้อำนาจโดยปราศจากการยับยั้ง ตรวจสอบ กระทั่งประชาชนทนไม่ได้ และไม่มีทางแสดงออก จนต้องปะทะกันอีก การโหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย จึงเป็นการส่งสัญญาณชัดๆ แรงๆ โดยสันติว่า ประชาชนไม่ต้องการระบอบคณาธิปไตย
-
หากเสียงโหวตโนมีคะแนนมากพอ ก็จะเป็นการสร้างกระแสกดดันว่า หมดเวลาสำหรับการร่างรัฐธรรมนูญแบบสองปีที่ผ่านมา แต่ต้องเป็นการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ประชาชน ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และเป็นการบอกคสช.ว่า ความนิยมในตัวพวกเขาน้อยลงเต็มทีแล้ว
-
สำหรับชนชั้นกลางที่เคยสนับสนุน คสช. ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลว่า ประเทศสงบดีไม่มีการประท้วงนั้นก็ น่าจะตระหนักได้ว่า ความสงบนั้นเกิดจากประชาชนต้องอดกลั้นภายใต้ ระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จ ไม่ได้เป็นความสงบที่เกิดจากปัญหาและความต้องการของประชาชนได้รับการตอบสนอง เช่น ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำ ภาวะอดกลั้นเช่นนี้ จึงเป็นภาวะชั่วคราวเท่านั้น ไม่ยั่งยืน สิ่งที่สังคมต้องการก็คือ การให้คนในสังคมต่อรองกันได้อย่างสันติ หากชนชั้นกลางเห็นว่า นักการเมืองใช้อำนาจโดยปราศจากการตรวจสอบ ก็ต้องมาสร้างระบบตรวจสอบ แต่ไม่ใช่การสร้างอำนาจใหม่ที่ไม่ต้องถูกตรวจสอบ แล้วไปลิดรอนสิทธิของประชาชนที่ใช้อำนาจผ่านการเลือกตั้ง เราต้องทำให้อำนาจทั้งสองฝ่ายนั้นสมดุล
-
ส่วนคนที่เคยคิดว่า คสช. จะมาปราบโกงนั้น ก็น่าจะตระหนักได้แล้วว่า คสช. ไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันกับเรื่องนี้ ซ้ำร้าย ผู้นำ คสช. ยังเสียเครดิตจากกรณีอุทยานราชภักดิ์ ที่ผลสอบกันเอง ระบุว่า ไม่มีการทุจริต ทั้งๆ ที่ ข้อกังหาง่ายๆ ที่ไม่อาจลบออกไปได้ก็คือ หากไม่มีการทุจริต พ.อ. คชาชาติ บุตรดี นายทหารผู้ใกล้ชิด พลเอก อุดมเดชและเป็นผู้รับผิดชอบเรื่องการจัดทำเสื้อ ทำไมจึงต้องหลับหนีออกนอกประเทศ ทำไม คสช.จึงไม่จัดการคนใกล้ชิดให้สะอาดปราศจากมลทิน
-
มากกว่านั้น สำหรับกลุ่มภาคประชาชนที่เคยสนับสนุน คสช. ก็คงน่าจะประจักษ์แล้วว่า เผด็จการไม่เคยเข้าใจคนรากหญ้า ดังเช่น คสช.มีแผนที่จะตืนผืนป่าโดยการขับไล่คนออกจากเขตป่า ซึ่งเป็นข้อพิพาทมาช้านาน และที่ผ่านมาก็ใช้การต่อรองเจรจาประนีประนอม แผนของ คสช.นี้ ไม่ต่างจากโครงการจัดสรรที่ดินทำกินในเขตป่าสงวนให้แก่เกษตรผู้ยากไร้ หรือ คจก. ในยุค รสช. ที่ล้มเหลว ไม่เป็นท่า เพราะทหารไม่เข้าใจเรื่องป่ากับชุมชน คจก. ในปี 2534 เป็นชนวนหนึ่งที่ทำให้องค์กรพัฒนาเอกชนเป็นเอกฉันท์ที่จะต้องร่วมขับไล่รสช. ส่วนชาวชุมนุมแออัด ปัจจุบันก็ถูกขับไล่โดยอ้างคำสั่งคณะปฏิบัติ ปว. 44 พ.ศ. 2502 คำสั่งนี้มีมานานแต่ไม่ได้ถูกใช้ในยามปกติ แต่กลับถูกนำมาปัดฝุ่นใช้ใหม่ก็ในยุคคสช.เรืองอำนาจ ตัวอย่างเหล่านี้ น่าจะเพียงพอว่า สังคมไทยมองไม่เห็นอนาคตร่วมกัน หากยังอยู่ภายใต้ คสช.
-
ดังนั้น โหวตคว่ำรธน. จึงเป็นก้าวแรกที่ประชาชนควรเดินร่วมกัน.
No comments:
Post a Comment