"เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร"
--------------------------------------------------------------------------------------
วันนี้ 3 พฤษภาคม เป็น "วันเสรีภาพสื่อโลก"
-
หลายองค์กรสื่อ ทั้ง FCCT-สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศในไทย สมาคมสื่อไทยคงจัดกิจกรรมถึงประเด็นนี้
-
ถ้าถามว่า ตอนนี้สื่อไทยมีเสรีภาพไหม? คงต้องตอบว่า "มี แต่ไม่ใช้"
ทำไมน่ะเหรอ?
-
เพราะกลัวการนำเสนอข่าวจะกระทบความมั่นคง ฯลฯ
-
ถ้าทุกสื่อทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มภาคภูมิ คนในสังคมคงไม่ยินยอมให้เกิดเหตุการละเมิดสิทธิมนุษยชนขึ้นทุกเมื่อเชื่อวัน
-
ถ้าสื่อทำหน้าที่ คงไม่มีใครยินยอมให้ทหาร-ตำรวจ-คสช.ใช้อำนาจบาทใหญ่ปิดปากประชาชนที่เห็นต่าง ด้วยการใช้กฎหมายจับกุมคุมขังคนที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ หรือโหวตโน
-
หรือแม้กระทั่งเคลื่อนไหวเพื่อปากท้อง เช่น กรณีเหมืองทองคำ การตัดโค่นยางพาราในที่ดินคนจน
-
หรือแม้กระทั่งจับกุมคุมขังคนที่วาดภาพล้อเลียนนายกรัฐมนตรี
ในฐานะสื่อตัวเล็กๆ คนหนึ่งเฝ้ามองการเปลี่ยนผ่านนี้ไปด้วยความคับข้องหมองใจว่า "เรามาถึงจุดนี้กันได้อย่างไร"
-
ปรากฎการณ์ที่เห็นตรงหน้า มันเหมือนย้อนกลับไปสมัยก่อน 14 ตุลาฯ 16 ที่เราอ่านในหนังสือประวัติศาสตร์ว่า ผู้มีอำนาจใช้กฎหมายจับกุมคนที่ชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คน
-
ใช้พรบ.ความสะอาดจับกุมคนติดโพสต์อิทที่สถานีรถไฟฟ้า ฯลฯ
-
ปรากฎการณ์เหล่านี้ไม่เคยคิดว่า จะได้เห็นในยุค 2016
-
นั่งถามตัวเองว่า เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
-
เพราะสื่ออนุญาตให้เกิด?
-
สื่อวางเฉย?
-
หรือสื่อสนับสนุน?
-
เป็นคำถามที่สื่อแต่ละสำนักก็มีคำตอบในตัวเองอยู่แล้ว เหมือนกับการรัฐประหารจะเกิดไม่ได้ ถ้าไม่มีสื่อเปิดประตูให้ทหารเข้ามา
-
หากใครถามว่า เสรีภาพสื่อไทยปี 2559 มีไหม เราคงตอบเต็มปากว่า
-
"มี แต่น้อยคนที่จะใช้ เพราะมีความกลัวจากเหตุปัจจัยอื่นๆ ค้ำคอ
-
เมื่อใดก็ตามที่สื่อไทยก้าวผ่านความกลัวไปได้ วันนั้นสังคมก็คงรับรู้ได้ถึงเสรีภาพของ "สื่อมวลชนไทย"
-
Cr. Isranews Agency
-------------------------------------------------------------------------------------
BBC เสนอข่าวว่า
สองสมาคมวิชาชีพสื่อออกแถลงการณ์ร่วม ชี้เสรีภาพสื่อไทยอยู่ในยุค "มืดมน" เรียกร้องให้ คสช.ยกเลิกกฎหมายที่ริดรอนเสรีภาพสื่อ ขณะที่อีกด้านเรียกร้องสื่อด้วยกันเองให้ "เปิดพื้นที่ให้ทุกฝ่าย"
-
แถลงการณ์ร่วมของสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ที่ออกในวันนี้ เนื่องในโอกาสวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก 3 พ.ค. กล่าวถึงสถานการณ์ของสื่อไทยในเวลานี้ว่า กำลังถูกจำกัดเสรีภาพอย่างมาก โดยแถลงการณ์ใช้คำว่า "มืดมน"
-
แถลงการณ์ดังกล่าวระบุว่า รัฐบาลภายใต้การนำของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าควบคุมการทำหน้าที่ของสื่อมวลชน อาทิ
การเรียกสื่อมวลชนไปปรับทัศนคติ
การเรียกประชุมตัวแทนสื่อมวลชนเพื่อให้ปฏิบัติตามคำสั่งของ คสช.อย่างเคร่งครัด หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย รวมทั้งมีการออกคำสั่งหลายฉบับที่มีเนื้อหาควบคุมสื่อมวลชนในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร
-
แถลงการณ์ระบุว่า การปฏิรูปสื่อมวลชนเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามปฏิรูปประเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติได้จัดทำแผนปฏิรูปสื่อมวลชนไปแล้ว แต่เมื่อส่งมอบให้กับสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศหรือ สปท.กลับไม่มีการสานต่อ
-
"ท่ามกลางบรรยากาศการปฏิรูปประเทศด้วยความคาดหวังให้เปลี่ยนผ่านการปกครองในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยดีขึ้น แต่เสรีภาพของสื่อมวลชนไทยกลับถูกลดทอนลงอย่างมีนัยสำคัญ จนตกอยู่ในภาวะที่เรียกได้ว่า "มืดมน".."
-
แถลงการณ์ได้เรียกร้องสี่ข้อต่อ คสช. สื่อด้วยกันเอง และประชาชน โดยในประการแรก ขอให้รัฐบาล คสช.เร่งยกเลิกกฎหมายที่จำกัดสิทธิเสรีภาพสื่อฯ ทั้งคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ข้อ 5 โดยเร็ว กลับไปใช้กฎหมายปกติกรณีที่พบสื่อละเมิดกฎหมาย ทั้งนี้เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัยจากคำสั่งทางความมั่นคง และให้เปิดให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ได้แสดงความคิดเห็นซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ด้านสิทธิเสรีภาพของประเทศ ขอให้สร้างหลักประกันเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารได้อย่างถูกต้อง รอบด้าน ขอให้สื่อมวลชนเปิดพื้นที่ให้กับทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อแสวงหาทางออกร่วมกันอย่างสร้างสรรค์ "ด้วยเชื่อว่าข่าวสารที่มีข้อมูลถูกต้อง รอบด้านจะเป็นทางออกของประเทศให้ก้าวข้ามพ้นวิกฤติความขัดแย้งไปได้" และ "รัฐจึงไม่ควรผูกขาดการนำเสนอข่าวด้านเดียว หรือควบคุม แทรกแซงให้สื่อฯ เกิดความหวาดกลัวต่อการนำเสนอข่าวสาร"
-
ประการถัดมา แถลงการณ์ขอให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศมีแนวทางสนับสนุนให้เกิดนโยบายและกฎหมายที่ส่งเสริมให้เกิดระบบกลไกในการกำกับดูแลกันเองของสื่อมวลชน และขอให้การพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อมวลชนเช่น ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์อย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้กระทบต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนมากจนเกินสมควร และในส่วนของร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่กำลังมีการเสนอแก้ไขกฎหมายอยู่ ก็ขอให้คำนึงถึงหลักการที่ให้ประชาชนมีหลักประกันว่าการจัดสรรคลื่นความถี่จะต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์ต่อสาธารณะ รวมทั้งเรียกร้องด้วยว่า การสรรหาคณะกรรมการของ กสทช.ควรโปร่งใสและให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม มีองค์ประกอบหลากหลาย ไม่ใช่มีเพียงตัวแทนหน่วยงานรัฐเท่านั้น
-
ประการที่สาม แถลงการณ์ของสองสมาคมขอให้ผู้ประกอบการสื่อให้ความสำคัญต่อการนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน รอบด้านเพื่อเป็นหลักประกันต่อเสรีภาพ ทำงานอย่างมืออาชีพ เคารพหลักจริยธรรม ร่วมกันสร้างกลไกกำกับการทำงานของกลุ่มเองให้เป็นจริง และประการสุดท้าย ขอให้ประชาชนระมัดระวังในเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูล รวมทั้งร่วมตรวจสอบสื่อมวลชนให้ทำงานในหน้าที่และทำในสิ่งที่ถูกต้อง
-
ด้านนายวันชัย วงศ์มีชัย นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยกับบีบีซีไทยว่า เมื่อเปรียบเทียบการทำงานของสื่อภายใต้รัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร 3 ครั้งก่อนหน้านี้ รัฐบาลปัจจุบันมีการใช้อำนาจจำกัดเสรีภาพสื่อมากกว่าชุดอื่นๆ โดยเฉพาะคำสั่ง คสช.ฉบับที่ 97/2557 ฉบับที่ 103/2557 และฉบับที่ 3/2558 ซึ่งทางสมาคมนักข่าวฯเรียกร้องให้มีการเลิกคำสั่งเหล่านี้โดยเร็ว พร้อมขอให้รัฐบาลเปิดพื้นที่ให้ประชาชนได้มีโอกาสในการแสดงออกมากยิ่งขึ้น แต่ว่าเรื่องนี้จะเป็นไปได้หรือไม่นั้น นายวันชัยกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์ที่รัฐบาลมองว่ามีกลุ่มปั่นป่วนทางการเมือง ส่วนหนึ่งที่ปลุกกระแสได้คือสื่อมวลชน ตนจึงประเมินว่ารัฐบาลคงไม่ยอมยกเลิกคำสั่งเหล่านี้ง่าย ๆ
-
(ภาพก่อนตัดต่อจาก สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย )
-
รวบรวมโดย - เสรีชน
พื้นที่ไฟล์แนบ
No comments:
Post a Comment