ในอดีต เคยเข้าใจว่า รัฐธรรมนูญคือกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศ
-
แต่พออยู่มาเรื่อยๆ ได้ทำงานกับชาวบ้าน จึงรู้สึกว่าสิ่งที่เรียกว่ารัฐธรรมนูญ มันแปลกๆ สงสัยว่าทำไมมันต้องมีอำนาจมากมายมหาศาล ทำไมต้องให้รัฐมีอำนาจจัดการกับเราได้ สั่งสร้างเขื่อน ให้คนออกจากป่าได้ อพยพคนได้ ทำร้ายคนจนได้ตลอดเวลา จนเมื่อปี 2540 เป็นปีแรกที่คนจนได้มีโอกาสร่วมร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นสิ่งที่เขาภูมิใจที่จะเรียกว่า "รัฐธรรมนูญฉบับประชาชน"
-
บารมี เปรียบเทียบมาตรา 26 ของรัฐธรรมนูญ 2540 กับมาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับมีชัย ฤชุพันธุ์ ซึ่งกล่าวถึงการใช้อำนาจของรัฐว่า ขณะที่ในรัฐธรรมนูญ 2540 รับรองสิทธิประชาชน โดยบอกว่าถ้าหน่วยงานรัฐจะใช้อำนาจต้องคิดถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชน แต่มาตรา 25 ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เขียนว่า ถ้าจะใช้สิทธิ อย่ากระเทือนรัฐ
-
อ่านแล้วจะเห็นความแตกต่างที่มีนัยสำคัญ ที่จะหาช่อง โอกาส วิธีจำกัดลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชนอยู่ตลอดเวลา ทั้งหมวดสิทธิเสรีภาพ และหน้าที่ของรัฐ
จนตีความยากว่าใครจะจัดการ
-
ต่อมา เรื่องการศึกษา การรักษาพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่คนจนเข้าถึงยากที่สุด ร่างรัฐธรรมนูญนี้ พยายามบอกว่าจะช่วยเรื่องการศึกษาและการรักษาพยาบาลเฉพาะคนยากไร้
-
"การศึกษา การรักษาพยาบาล ไม่ใช่เรื่องสงเคราะห์ เป็นสิทธิที่เราพึงมีพึงได้ รัฐต้องจัดให้เราไม่ใช่มากีดกัน"
-
"คนจนเป็นคนที่ประหลาดประเภทหนึ่ง นโยบายที่ออกให้คนจน คนจนไม่ค่อยจะได้ เช่น สปก. 4-01 แต่ถ้าบอกว่า ออกเพื่อทุกคน คนจนจะได้ แต่กว่าจะได้ก็ยาก"
-
นอกจากนี้ บารมีกล่าวถึงระบบการเลือกตั้ง ส.ส. จากเลือกโดยตรงกับบัญชีรายชื่อ เป็นแบบเลือกทางโกงให้คนแพ้ โดยยกตัวอย่างเปรียบเทียบกับการแข่งวอลเลย์บอลว่า แทนที่จะนับจำนวนเซ็ตแพ้-ชนะ เป็นการนับคะแนนรวม ซึ่งนั่นอาจทำให้ชนะกลายเป็นแพ้ได้ รวมถึงยังเปลี่ยนระบบเลือกตั้ง ส.ว. เป็นการแต่งตั้งด้วย
-
"นี่เป็นการปล้นการเลือก ส.ว.ไปจากมือ"
-
อีกอย่างที่ลิดรอนสิทธิคนจนคือ ยุทธศาสตร์ประเทศ ถ้ามียุทธศาสตร์ 20 ปี พรรคการเมืองไม่ต้องหาเสียงแข่งกันเรื่องนโยบายอีก ก่อน 2540 นั้น รัฐบาลเอานโยบายสภาพัฒน์ฯ มาใช้ หลัง 2540 พรรคไทยรักไทยถึงได้เอานโยบายออกมาใช้ ตอนนี้จะกลับมาใช้ยุทธศาสตร์ชาติ ถามว่า 50 ปีที่ผ่านมาสร้างความฉิบหายให้ประเทศไม่พอหรือ การเกิดคนจน เกิดคนไร้ที่ดิน สลัม คือความล้มเหลวของสภาพัฒน์ และต่อไปก็จะเป็นแบบนั้น
-
บารมี ชี้ว่า นอกจากรัฐธรรมนูญจะจำกัดสิทธิชาวบ้านแล้ว แล้วยังเพิ่มอำนาจราชการด้วย ก่อนหน้านั้น การต่อสู้ของสมัชชาคนจน ชัยชนะหนึ่งคือ ทำให้เกิดความเสมอหน้าระหว่างคนจนกับราชการ แต่คราวนี้ ข้าราชการจะกลับมาใหญ่
-
ประชาชนจะมีอำนาจได้ต้องมีการกระจายอำนาจ พูดถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไว้อย่างคลุมเครือ เพื่อที่พอจะร่างกฎหมายลูกแล้วจะได้สับสนขึ้น ไม่ได้พูดเรื่องกระจายอำนาจที่ระบุไว้ชัดเจน
-
ถ้าไม่มีการกระจายอำนาจ สิทธิที่จะบอกว่าน่าจะได้ ไม่มีทางเกิด มันจะเกิดได้เมื่อเราสามารถควบคุมอำนาจในท้องถิ่นได้ ยกตัวอย่างกรณีเหมืองทอง ถ้าเหมือนสมัยก่อน สภาตำบล มีครู แพทย์ตำบล เกษตรตำบลเป็นกรรมการ เราไม่มีทางกำกับ-ปกป้องพื้นดินของเราได้เลย
-
โดยสรุป ถ้าเลือกได้ ก็คงเลือกที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญนี้
-
บารมี ชัยรัตน์ ที่ปรึกษาสมัชชาคนจน
-
กล่าวในงานเสวนาวิชาการ "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้"
Cr. Prachatai
No comments:
Post a Comment