คำมั่นสัญญาของรัฐบาลทรราช คสช.ต่อประชาคมระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนไทย แต่..........หลอกลวง
------------------------------------------------------------------------------
ยูพีอาร์เป็นกลไกยูเอ็น แต่ขับเคลื่อนด้วยประชาชนในประเทศ
อกนิษฐ์ หอรัตนคุณ
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย
เผยแพร่ครั้งแรกใน "มติชนสุดสัปดาห์" วันที่ 20 พ.ค. 2559
ผ่านไปแล้วสำหรับเวทีการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนหรือยูพีอาร์ (UPR – Universal Periodic Review) รอบประเทศไทย โดยรัฐสมาชิกยูเอ็นมากกว่า 100 ประเทศ ที่คณะมนตรีสิทธิมนุษยชน กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และเมื่อวันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม รัฐบาลไทยได้ตอบรับให้คำมั่นสัญญาว่าจะปฏิบัติตามข้อเสนอแนะ 181 ข้อ ที่รัฐบาลประเทศอื่นเสนอให้ไทยปฏิบัติตามเพื่อยกระดับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ไทยรับข้อเสนอแนะที่สำคัญ เช่น ผ่านกฎหมายเพื่อปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย ให้สัตยาบันอนุสัญญาเลือกรับเรื่องต่อต้านการทรมาน คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก การชุมนุมอย่างสงบ และเสรีภาพสื่ออย่างเต็มที่ คุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ออกแผนการระดับชาติเพื่อให้ภาคธุรกิจและบรรษัทคุ้มครองสิิทธิมนุษยชน รวมถึงการกระจายการศึกษา กำจัดความยากจน เข้าถึงสาธารณสุข และคุ้มครองกลุ่มบุคคลเปราะบาง
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อเสนอแนะอีก 68 ข้อ ที่คณะผู้แทนไทยยังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะรับไปทำหรือไม่ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเผือกร้อนและเป็นเรื่องสิทธิพลเมือง ที่น่าสนใจ เช่น การไม่นำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งคสช. ต่างๆ โดยเฉพาะคำสั่งที่ 3/2558 และ 13/2559 การทบทวนแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพการแสดงออก การยกเลิกการควบคุมตัวโดยพลการหรือมาตรการปรับทัศนคติ การยกเลิกโทษประหารชีวิต และการให้สถานะผู้ลี้ภัย รัฐบาลไทยมีเวลาเหลือน้อยกว่าสี่เดือนในการให้คำตอบก่อนจะถึงวาระการประชุมนัดหน้าที่คณะมนตรีฯ ในเดือนกันยายน
ผู้เขียนพอจะมีข้อสังเกตดังนี้
ยูพีอาร์คือการเมืองระหว่างประเทศ
ข้อเสนอแนะจากรัฐบาลประเทศต่างๆที่มีต่อไทย แน่นอนว่าใช้กรอบมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเป็นตัวตั้ง แต่การสร้างข้อเสนอแนะต่างๆอยู่บนพื้นฐานของการเมืองระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ ผลประโยชน์ และยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศของรัฐบาลต่างๆที่มีต่อไทยทั้งในทางการเมืองและเศรษฐกิจ สมดุลอำนาจ รวมถึงจุดยืนทางการเมืองระหว่างประเทศและประวัติศาสตร์การเมืองของประเทศนั้นๆเอง เป็นเวทีที่น่าสนใจสำหรับศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่างๆที่มีต่อไทย
เมื่อกวาดตาในภาพรวม เราพอจะเห็นบล็อกของกลุ่มประเทศต่างๆ ต่อจุดยืนทางการเมืองและสิทธิมนุษยชนที่มีต่อความสัมพันธ์กับไทย เช่น กลุ่มประเทศตะวันตก โดยเฉพาะประเทศเครือสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ที่แน่นอนว่ามาพร้อมกับข้อเสนอแนะที่เข้มข้น โดยเฉพาะเรื่องสิทธิพลเมืองภายใต้รัฐบาลทหาร กลุ่มประเทศอาเซียนและเอเชียที่ให้ข้อเสนอแนะด้านสิทธิทางเศรษฐกิจและสังคม และไม่ก้าวก่ายเรื่องสิทธิพลเมืองมาก ยกเว้นบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่นหรือเกาหลีใต้ แน่นอนว่าส่วนหนึ่งมาจากความสามารถในการทำงานสร้างความสัมพันธ์ของสถานทูตไทย แต่ที่ผู้เขียนสนใจคือกลุ่มประเทศแอฟริกา เช่น คองโก เซียร์ร่าลีโอน หรือบอตสวานา และกลุ่มประเทศละตินอเมริกา เช่น คอสตาริกา ชิลี หรือโคลอมเบีย ที่ให้ข้อเสนอแนะที่เข้มข้นในเรื่องสิทธิพลเมือง โดยเฉพาะการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อ แสดงถึงการที่กลุ่มประเทศเหล่านี้ให้ความสำคัญกับสถานการณ์ภายใต้รัฐบาลทหารของไทย ที่มาจากพื้นฐานทางการเมืองของประเทศเหล่านี้เอง และระดับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับไทย
คำมั่นสัญญาที่จะคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและการทรมาน
หลายประเทศในเวทีคณะมนตรีฯ อาทิ ออสเตรีย เกาหลีใต้ และสาธารณรัฐเชค แสดงความกังวลเรื่องบรรยากาศเสรีภาพการแสดงออกก่อนการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่จะมีขึ้นในเดือนสิงหาคม และการข่มขู่และคุกคามนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และนักข่าว สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คณะผู้แทนไทยตอบรับข้อเสนอแนะที่มาจากมากกว่า 10 ประเทศ ว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิที่จะเสรีภาพในการแสดงออก การแสดงความคิดเห็น และเปิดเสรีภาพการดีเบทโต้เถียงในบรรยากาศก่อนการลงประชามติ รวมถึงในช่วงสี่ปีครึ่งนับจากนี้จนถึงยูพีอาร์รอบหน้า นับเป็นการแสดงคำมั่นสัญญาของรัฐบาลไทยต่อประชาคมระหว่างประเทศที่จะคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกของประชาชนไทย ซึ่งข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต้องทำงานกับหน่วยงานและเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เพื่อแสดงให้เป็นที่ประจักษ์ต่อประชาคมระหว่างประเทศถึงคำมั่นสัญญาของคณะผู้แทน
อย่างไรก็ดี ยังมีข้อเสนอแนะเป็นจำนวนมากในเรื่องสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกที่ยังรอการตัดสินใจจากรัฐบาลไทย เช่น ข้อเสนอจากเยอรมัน ไอซ์แลนด์ ลัตเวีย สวีเดน หรือสเปน ในเรื่องการปรับแก้ไขกฎหมายภายในที่ยังไม่เป็นไปตามพันธกรณีสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นรัฐภาคี โดยเฉพาะการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการหมิ่่นประมาทที่นำไปสู่โทษอาญา เช่น มาตรา112 (หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ) 116 (ยุยงปลุกปั่น) 326 และ 328ของประมวลกฎหมายอาญา และพรบ. อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ เนื่องจากกฎหมายเหล่านี้มีความเสี่ยงที่อาจถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อคุกคามหรือหยุดยั้งนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิมนุษยชน และกลุ่มบุคคลที่เห็นต่างจากรัฐบาล แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนลเองเรียกร้องให้ไทยยกเลิกหรือแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยการหมิ่นประมาทดังกล่าวที่ไม่ควรเป็นโทษอาญา
เป็นที่แน่นอนว่า หากไทยประกาศไม่รับข้อเสนอแนะที่ยังเหลือว่าด้วยการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวที่ไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออก ย่อมทำให้ข้อเสนอแนะที่ไทยประกาศรับไปแล้วในเรื่องการคุ้มครองเสรีภาพการแสดงออกและเสรีภาพสื่อก่อนหน้า ไม่สอดคล้องและไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
อย่างไรก็ดี การที่เจ้าหน้าที่จากกระทรวงยุติธรรมได้กล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุมคณะมนตรีฯ ว่าไทยตั้งใจที่จะผ่านร่างพรบ.ปราบปรามการทรมานและอุ้มหาย เป็นสิ่งที่ช่วยสร้างสมดุลในทางสร้างสรรค์แก่คณะผู้แทนไทย และเป็นไปตามข้อเสนอแนะจากหลายประเทศในเรื่องการปราบปรามการทรมาน อย่างไรก็ดี ร่างพรบ.ฉบับดังกล่าวในปัจจุบันขณะที่บทความนี้กำลังร่าง (15 พฤษภาคม) ยังไม่ผ่านการตัดสินใจของคณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และองค์ประกอบของคณะกรรมการฯที่ร่างพรบ.นี้จัดตั้งขึ้นเพื่อตรวจสอบและสอบสวนการทรมาน ยังไม่มีความเป็นกลางและเป็นอิสระตามที่อนุสัญญาต่อต้านการทรมานระบุข้อกำหนดไว้
ยูพีอาร์เป็นกลไกยูเอ็นแต่ขับเคลื่อนด้วยประชาชนในประเทศ
แน่นอนว่ายูพีอาร์เป็นกลไกทางการเมืองที่ใช้แรงกดดันจากรัฐสมาชิกยูเอ็นในการให้ข้อเสนอแนะต่างๆแก่รัฐบาลไทย ซึ่งไม่มีผลผูกมัดทางกฎหมายระหว่างประเทศ การที่กลไกที่มีลักษณะการทูตเช่นนี้จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางรูปธรรมได้ เป็นที่แน่นอนอย่างน้อยสำหรับผู้เขียนว่า ยูพีอาร์ต้องขับเคลื่อนด้วยประชาชนในประเทศเป็นสำคัญ ความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดที่ผู้เขียนสังเกตได้ระหว่างยูพีอาร์รอบที่แล้วเมื่อปี 2555 กับรอบนี้ นอกจากสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนในไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว ในรอบนี้มีคนหลายกลุ่มในประเทศไทยที่ให้ความสนใจยูพีอาร์ อาทิ มีกลุ่มหรือองค์กรในประเทศจัดงานถ่ายทอดสดเวทีคณะมนตรีฯ ในจังหวัดต่างๆ เช่น ปัตตานี เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ สื่อมวลชนให้ความสนใจและรายงานความเคลื่อนไหวจากเวทีดังกล่าว ผู้ใช้โซเชียลมีเดียแชร์เรื่องราวให้เพื่อนในโลกออนไลน์อ่าน ปรากฎการณ์เหล่านี้เป็นสิ่งที่ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเด่นชัดในยูพีอาร์รอบแรก การดึงกลไกยูเอ็นระดับเจนีวาลงมาสู่ประเทศไทย เป็นกุญแจสำคัญในการทำให้กลไกการทูตเช่นนี้สร้างผลกระทบในทางรูปธรรมได้
สิ่งที่ประชาชนอย่างผู้เขียนและคุณผู้อ่านทำได้ก่อนคือ ติดตามในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกันยายนที่จะถึงว่า รัฐบาลไทยจะรับข้อเสนอแนะเพื่มเติมอีก 68 ข้อหรือไม่ ถ้าไม่รับข้อใด รัฐบาลไทยต้องมีคำอธิบายชี้แจงอย่างละเอียดว่าเหตุใดถึงรับไม่ได้ และกำหนดกรอบระยะเวลาในการลงมือปฏิบัติตามข้อเสนอแนะแต่ละข้อ ที่น่าสนใจคือ ข้อเสนอแนะว่าด้วยสิทธิพลเมืองหลายข้อที่ยังเหลือค้างอยู่นั้น หลายข้อไม่จำเป็นต้องใช้ทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมอย่างสำคัญ แต่ใช้ความเป็นผู้นำทางการเมืองที่ดีในการตัดสินใจ และใช้ความตั้งใจของเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายที่จะคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแก่ประชาชนไทย
โดยคุณสามารถเสิร์ชกูเกิ้ลได้นับแต่ตอนนี้ ลงคีย์เวิร์ด "UPR Thailand" เลือกลิ้งก์ที่ขึ้นเป็นอันดับแรกของ OHCHR (สำนักข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ) เพียงเท่านี้ คุณก็เข้าถึงเอกสารและคลิปวีดีโอที่วีดีโอที่เกี่ยวข้องทุกชิ้นและติดตามกระบวนการยูพีอาร์ได้นับแต่บัดนี้กระบวนการยูพีอาร์ได้นับแต่บัดนี้
วีดีโอที่เกี่ยวข้องทุกชิ้น และติดตามกระบวนการยูพีอาร์ได้นับแต่บัดนี้
No comments:
Post a Comment