เสวนา มธ. คึกคัก "เกษียร" แจก "เอฟ" ร่างรธน.ฉบับมีชัย ชี้ผูกพัน 20 ปี 4 รัฐบาล
-
เมื่อเวลา 13.00 น. วันที่ 5 พฤษภาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา จัดงานเสวนา "รัฐธรรมนูญกับประชามติที่เลือกได้"
-
นายธเนศ อาภรณ์สุวรรณ ธรรมศาสตราภิชาน วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวในหัวข้อ "ทำไมต้องมีรัฐธรรมนูญ" ในฐานะความหมายของรัฐธรรมนูญไทย ไม่ได้ยืนยันอำนาจการปกครองว่ามาจากประชาชน จึงไม่ปกปองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญเป็นตัวแสดงถึงโครงสร้างอำนาจโดยกล่าวถึงกลุ่มอำนาจทั้งหลายกันเอง ไม่ใช่กับประชาชน และรัฐธรรมนูญไม่ใช่ที่มา หากแต่เป็นผลรวมของกฎหมายลูกและไม่ใช่กฎหมายสูงสุด
-
"ผมไม่อ่านรัฐธรรมนูญในวันนี้เพราะคิดว่าไม่เข้าใจ รัฐธรรมนูญอยู่ในจิตวิญญาณ ผมเชื่อว่าคนอเมริกันไม่อ่านรัฐธรรมนูญแต่เขาไม่ยอมให้มีใครมาทำลายรัฐธรรมนูญโดยเด็ดขาด รัฐธรรมนูญคือเจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการสร้างสังคมที่มีความเสมอภาค เท่าเทียมและยุติธรรมตลอดไป มันต้องมีอยู่เพื่ออนาคต เพื่อคนอีกร้อยปีข้างหน้าด้วย" นายธเนศกล่าว
-
นายเกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ภาพรวมร่างรัฐธรรมนูญฉบับนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ.อ่านแล้วได้ข้อสรุปว่า เรื่องเจตนา ถ้าดูเฉพาะ 16 หมวด ตัดเกรดแล้วให้ได้ประมาณเกรดดี แต่รวมบทเฉพาะกาลด้วยให้เกรดเอฟ
"ท่านไม่ได้โหวตรับเฉพาะรัฐธรรมนูญ แต่รับระเบียบอำนาจคสช.ด้วย ที่พ่วงมาด้วยเพราะ ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้แก้ไขเพิ่มเติมยากมาก แล้วยังประกันระเบียบอำนาจคสช. มาตรา 279 ให้คสช. ใช้อำนาจต่อ เปิดใช้อำนาจนายกฯคนนอก เกิดคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกระจายไปทั่ว มุ่งให้ผูกพันรัฐบาลต่อเนื่อง20ปี 4รัฐบาล ยุทธศาสตร์ชาติได้ครอบคลุมเบ็ดเสร็จทุกด้าน อีกทั้งมีบทลงโทษคนที่ไม่ทำตาม และมีสัดส่วนฝ่ายแต่งตั้งมากกว่าฝ่ายเลือกตั้ง"
-
นายอภิชาต สถิตนิรามัย อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ กล่าวว่า หากร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านก็เห็นได้ว่า รัฐบาลที่จะเกิดหลังจากมีการประชามติ จะเป็นรัฐบาลที่อ่อนแอ อายุสั้น และไม่สามารถผลักดันนโยบายใดๆ ได้ ระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมก็จะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันเชิงนโยบาย และเป็นวิธีการเลือกตั้งที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคขนาดกลาง ทำให้การเลือกตั้งไม่ชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดและนำไปสู่รัฐบาลผสม รัฐบาลจึงล้มง่าย ไร้ประสิทธิภาพ และอาจพูดได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นการฟื้นฟูให้ระบบราชการกลับมาเป็นใหญ่ โอกาสปฏิรูประบบราชการจึงน้อยลงทั้งที่ปัจจุบันราชการไล่ตามเอกชนไม่ทันแล้ว เป็นเหตุให้ต้องปฏิรูป
-
Cr. matichon
No comments:
Post a Comment