กิจการฮัจญ์ภายใต้กระทรวงมหาดไทย : วิถิมุสลิมโลก โดยศราวุฒิ อารีย์
การประกอบพิธีฮัจญ์ ณ ประเทศซาอุดีอาระเบีย ถือเป็นเสาหลักอีกประการหนึ่งที่ศาสนาอิสลามกำหนดให้มุสลิมที่มีความสามารถต้องปฏิบัติ ในแต่ละปีมุสลิมจากทั่วโลกจะเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์จำนวนประมาณ 2-3 ล้านคน โดยแต่ละประเทศจะได้รับการจัดสรรโควตาตามสัดส่วนของประชากรมุสลิมในประเทศนั้นๆ ประเทศไทย แม้จะไม่ใช่ประเทศมุสลิม แต่ก็ได้รับโควตาทุกปีในจำนวนประมาณ 10,000 คน ซึ่งก็ต้องถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว
ที่ผ่านมาหน่วยงานที่มีหน้าที่บริหารจัดการกิจการฮัจญ์ของไทยคือ กรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ตามที่พระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ พ.ศ.2524 (ปรับปรุงใน พ.ศ.2532) ได้ระบุเอาไว้ แต่เมื่อเร็วๆ นี้คือวันที่ 28 กรกฎาคม 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้มีมติผ่านร่างพระราชบัญญัติการส่งเสริมกิจการฮัจญ์ฉบับใหม่แทนฉบับเก่า เนื้อหาหลักในร่าง พ.ร.บ.ใหม่คือ การโอนย้ายกิจการฮัจญ์จากการดูแลโดยกรมศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ไปยังกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย โดยอาจตั้งกองหรือสำนักขึ้นมาเป็นกรณีพิเศษเพื่อดูแลงานกิจการฮัจญ์ของประเทศ
คำถามคือ ทำไมต้องเปลี่ยน? เรื่องนี้ผมได้มีโอกาสสนทนากับอาจารย์วินัย ดะห์ลัน ในฐานะที่ท่านเป็นหนึ่งในในคณะกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การส่งเสริมกิจการฮัจยญ์ฉบับใหม่ ได้คำตอบน่าสนใจครับ
อาจารย์วินัยอธิบายว่า เรื่องฮัจญ์เป็นกิจการที่ครอบคลุมหลายมิติ ไม่ใช่เป็นเรื่องศาสนาเพียงอย่างเดียว ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ต้องเตรียมตัวร่วมกับครอบครัวและชุมชน มีการสะสมเงิน เพราะต้องออกค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด การมอบหมายภาระหน้าที่ในครอบครัวในระหว่างที่ไปทำฮัจญ์เป็นเดือนๆ ต้องติดต่ออิหม่ามและกรรมการมัสยิด ประธานชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน กรรมการอิสลาม ฝ่ายปกครอง กิจกรรมเหล่านี้จะดำเนินไปด้วยความมีประสิทธิภาพหากกระทรวงมหาดไทย ซึ่งมีหน้าที่ดูแลทุกข์สุขของประชาชน เข้ามาร่วมบริหารตั้งแต่ต้นมือ
ในขณะเดียวกัน การบริหารกิจการฮัจญ์ของประเทศซาอุดีอาระเบียนั้น อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกระทรวงฮัจญ์ ซึ่งบริหารจัดการอย่างบูรณาการร่วมกับกระทรวงอื่นๆ ทั้งหมดของประเทศ ปัจจุบันมีงานด้านทะเบียนประชากรฮัจญ์ มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในระบบที่คล้ายคลึงกับทะเบียนราษฎรในประเทศไทย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีความพร้อมตั้งแต่ระดับล่างในชุมชนจนถึงระดับบนคือกระทรวง ในการบริหารจัดการเชิงเทคโนโลยีสารสนเทศเช่นว่านี้
และที่สำคัญอีกประการ คือ สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด สำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย สำนักจุฬาราชมนตรี สำนักงานผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. ฯลฯ ที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้านการอำนวยความสะดวกต่างๆ แก่ผู้ประสงค์เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ต่างดำเนินงานสัมพันธ์กับกระทรวงมหาดไทยมาโดยตลอดทั้งทางกฎหมายและทางความสัมพันธ์ทั่วไป การมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยซึ่งมีบุคลากรในพื้นที่จำนวนมากดำเนินงานตั้งแต่ต้นมือจะส่งผลดีต่อการบริหารจัดการกิจการฮัจญ์นำไปสู่ค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ลดลง ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน
นอกจากนั้น มุสลิมที่เข้าร่วมพิธีฮัจญ์ในแต่ละปีส่วนใหญ่มาจาก 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งจำนวนมากมาจากพื้นที่ห่างไกล ด้วยเหตุนี้ ความสะดวกตลอดจนความสัมพันธ์ที่มีมากขึ้นกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง จะส่งผลต่อความเข้าใจระหว่างประชาชนกับรัฐในพื้นที่ ผลที่ตามมาในอนาคตคือ กระทรวงมหาดไทยจำเป็นต้องใช้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ีที่เป็นมุสลิมมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน
อย่างไรก็ตาม ปีนี้ช่วงเทศกาลฮัจญ์กำลังใกล้เข้ามาเต็มที่แล้ว การปรับเปลี่ยน พ.ร.บ.ส่งเสริมกิจการฮัจญ์จึงไม่มีผลในทางปฏิบัติต่อการบริหารจัดการฮัจญ์ของปีนี้ แต่เทศกาลฮัจญ์ของปีหน้าเราคงเห็นการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น และหวังว่าการเปลี่ยนแปลงนี้จะเป็นประโยชน์กับประชาชนและประเทศชาติมากที่สุดครับ
No comments:
Post a Comment