มุทิตาจิต....มีความหมายอย่างไร ?
Credit: https://www.facebook.com/pg/Pkclub2555-332586453497901/photos/?tab=album&album_id=345420205547859
มุทิตาจิต "มุทิตา" หมายถึงความเป็นผู้มีใจชื่นชมยินดีในเมื่อผู้อื่นได้ดีหรือได้รับความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง เป็นอาการที่เกิดขึ้นในใจเองโดยมิได้บังคับ เกิดขึ้นเพราะจิตใจปราศจากความอิจฉาริษยา เกิดขึ้นเพราะเป็นผู้มีปกติยอมรับในผลสำเร็จหรือความดีของคนอื่น เพราะฉะนั้นจึงเรียกเป็นคำเต็มได้ว่า "มุทิตาจิต" คุณธรรมข้อนี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นง่าย ๆ หรือเกิดขึ้นแก่ทุกคนไม่ เพราะปกติธรรมดาคนทั่วไปมักจะไม่ค่อยยอมรับในความดีของผู้อื่น มักจะไม่ค่อยชื่นชอบนักหากผู้อื่นได้ดีเกินหน้า โดยเฉพาะในคนที่ไม่ชอบหน้ากันอยู่แล้ว มุทิตาจิตจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย ดังนั้นคนที่ทำให้จิตเกิดมุทิตาได้จึงเป็นบุคคลพิเศษที่ยกระดับจิตใจให้สูงกว่าคนธรรมดาสามัญได้แล้ว เป็นคนเปิดใจกว้าง ยอมรับความดีของผู้อื่นและพร้อมเสมอที่จะแสดงความชื่นชมยินดีด้วยเมื่อผู้อื่นได้ดี ผู้ทำได้ดังนี้ท่านว่าเป็นผู้ยกระดับจิตใจถึงขั้นระดับเป็นพระพรหมทีเดียว เพราะมุทิตาจิตนั้นเป็น "พรหมธรรม" หรือ "พรหมวิหารธรรม" ข้อหนึ่ง ซึ่งเป็นธรรมของผู้เป็นพรหมของผู้ใหญ่ผู้ประเสริฐแล้ว จึงกล่าวได้ว่ามุทิตานี้เกิดได้ยากนักยากหนา ที่เกิดได้ง่าย ๆ นั้นเพราะเขาฝึกไว้ดีแล้วต่างหาก การแสดงออกซึ่งมุทิตาจิตนั้นมิใช่หมายเพียงการนำสักการะไปถวาย การนำกระเช้าดอกไม้ไปให้ การเลี้ยงกันหรือการกล่าวอวยพรกันเท่านั้น เพราะการแสดงเช่นนั้นเป็นเพยงจุดหมายที่ให้รู้ว่ามีมุทิตา แท้ที่จริงมุทิตานั้นจะต้องเริ่มต้นเกิดที่จิตใจก่อน เมื่อจิตใจเกิดมุทิตาแล้วก็เป็นอันใช้ได้ส่วนจะแสดงต่อด้วยการกระทำหรือด้วยคำพูดเช่นนั้นก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง แม้หากว่าจะแสดงกันอย่างนั้น แต่ก็ทำไปด้วยความจำเป็นตามมารยาทสังคมแบบเสียไม่ได้ หรือถูกบังคับให้ทำโดยที่โจทย์มิได้ยินดีด้วยเลย การแสดงออกเช่นนั้นก็หาจัดว่าเป็นการแสดงมุทิตาจิตไม่ เพราะใจไม่ได้เกิดมุทิตาด้วยเลย อีกประการหนึ่งเล่า จิตใจที่จะเปี่ยมด้วยมุทิตานั้นจะต้องกำจัดอารมณ์ในใจอันหนึ่งคือ "อรติ" ให้ได้เด็ดขาดด้วย อรตินั้นคือความไม่พอใจเพราะเกิดความอิจฉาริษยา เกิดความไม่ยินดี อรตินี้เป็นศัตรูต่อมุทิตาโดยตรงจึงต้องกำจัดให้ได้เด็ดขาด จึงจะเป็นมุทิตาจิตที่บริสุทธิ์ ดังนั้นจึงกล่าวว่า มุทิตาจิตเป็นจิตระดับสูงถึงขั้นเป็นจิตของพระพรหมดังกล่าวข้างต้น แท้จริง อรติ ความไม่พอใจ ความอิจฉาริษยานี้มันเป็นกิเลสบังคับใจบังปัญญาและบังความรู้สึกผิดชอบชั่วดี บังความควรไม่ควรไว้หมด ทำให้คนมองไม่เห็นความดีของใคร ทำให้ชมใครไม่เป็นสรรเสริญใครไม่ได้ ทำให้คนมองกันในแง่ดีไม่ได้ ซ้ำยังกระตุ้นให้คนคิดทำลายลางความดีของผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา เห็นใครดีเกินหน้าไม่ได้จะต้องคิดทำลายล้าง ลบหลู่ความดีของผู้อื่นให้หมดเสียร่ำไป ดังพระท่านว่า "อรติ โลกนาสิกา ความริษยาเป็นตัวทำลายโลก" คนที่มีความริษยาจึงชอบหงุดหงิดไม่พอใจอะไรง่าย ๆ รู้ได้โดยกิริยาท่าทาง คือถ้าเห็นคนอื่นได้ดีไม่ว่าคนนั้นจะเป็นพี่ เป็นน้อง เป็นเพื่อน หรือเป็นผู้ร่วมงานก็ตามก็จะเกิดความหงุดหงิดใจ เกิดความงุ่นง่าน ไม่สบอารมณ์อยู่ตลอดเวลา ถ้าอยู่คนเดียวก็จะพลุ่งพล่านนั่งนอนไม่ติดที่ หากมีโอกาสก็จะระบายอารมณ์เสียนั้นในทางทำลายคุณความดีของผู้ได้ดีคนนั้น เช่น พูดจาถากถางบ้าง พูดจาประชดประชันบ้าง เยาะเย้ยบ้าง กระแนะกระแหนบ้าง ทำท่าค้อนควักบ้าง แล้วแต่โอกาสและสถานที่จะอำนวย นี่แหละคืออำนาจของความริษยาซึ่งเป็นตัวทำลายโลกดังพระท่านว่า วิธีกำจัดก็คือ ต้องสร้างมุทิตาจิตให้เกิดขึ้นแทนที่โดยการค่อย ๆ มองหาความดีของคนอื่น แม้จะมีเพียงน้อยนิดก็ยังดีหาให้พบกลบความไม่ดีของเขาเสียอย่าไปพูดถึง แล้วหัดชมคนอื่นเป็นเสียบ้าง ก็เอาส่วนดีแม้น้อยนิดที่พบนั่นแหละมาชมกัน แม้ตอนแรก ๆ จะฝืนใจชมบ้างก็พยายามทำ นาน ๆ เข้าก็จะเกิดความเคยชินและชมได้มาก ๆ เมื่อชมเป็นแล้วก็แสดงความยินดีในความสำเร็จเล็ก ๆ น้อย ๆ ของผู้อื่น เริ่มต้นจากคนในครอบครัวก่อนก็ได้ยินดีต่อน้อง ๆ ที่สอบได้ ยินดีต่อพี่ ๆ ที่ได้งานทำ ขยายวงกว้างออกไปจนถึงเพื่อน ๆ ต่อไปถึงผู้ร่วมงาน อย่างนี้แหละไม่นานมุทิตาก็จะเกิดเต็มจิต ความหงุดหงิดงุ่นง่านเพราะเกิดความรู้สึกอิจฉาริษยาก็จะหมดไป มุทิตาจิต เป็นยาวิเศษที่ทำให้คนเรายิ้มแย้มเข้าหากัน คบกันโดยสนิทใจ เป็นโซ่ทองที่คล้องใจกันไว้ได้นานเท่านาน ตรงกันข้ามกับความริษยา ซึ่งเป็นศาสตราที่คอยบั่นทอนมิตรภาพอยู่ร่ำไป และเป็นตัวทำลายทุกอย่างในโลก ฉะนี้แล
No comments:
Post a Comment