voteno
นราธิวาส ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 38.16% ไม่เห็นชอบ 61.84% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 37.37% ไม่เห็นชอบ 62.63%
ปัตตานี ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 34.86% ไม่เห็นชอบ 65.14% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 34.18% ไม่เห็นชอบ 65.82%
ยะลา ประเด็นร่างรัฐธรรมนูญ เห็นชอบ 40.46% ไม่เห็นชอบ 59.54% ประเด็นคำถามพ่วง เห็นชอบ 39.72% ไม่เห็นชอบ 60.28%
คะแนน (อย่างไม่เป็นทางการ) ที่ออกมาแทบจะกลับด้านกับผลประชามติร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2550 เพราะครั้งนั้นนราธิวาสรับร่างฯ 73.4% ปัตตานี รับร่างฯ 72.2% ขณะที่ยะลา รับร่างฯ 69.6%
ผลคะแนนที่ปรากฏ ถือเป็นความพยายามของคนในพื้นที่ที่ต้องการสะท้อนให้ผู้มีอำนาจเห็นว่า พวกเขาไม่พอใจเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ที่ต้องบอกว่าเป็น "ความพยายาม" ก็เพราะตั้งแต่ก่อนเวลาเปิดหีบออกเสียงประชามติ มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นถี่ยิบ นับรวมได้กว่า 30 ลูก แต่ประชาชนก็ยังออกมาใช้สิทธิ์เกินครึ่ง แม้จะไม่ท่วมท้นเหมือนที่เคย แต่ก็มากกว่าการเลือกตั้งเมื่อปี 57 (ที่ภายหลังล้มไป)
ถามว่าอะไรคือเหตุผลเบื้องหลังของการ "โหวตโน" หากกล่าวอย่างสรุปรวบยอดก็มี 2-3 ประเด็น
หนึ่ง คือ ความไม่พอใจมาตรา 67 เกี่ยวกับการทำนุบำรุงศาสนา ที่เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญนั้น กรธ.เขียนให้น้ำหนักศาสนาพุทธมากกว่าศาสนาอื่นอย่างชัดแจ้ง ทำให้มีการสร้างกระแสว่าหากรัฐธรรมนูญผ่าน ศาสนาอิสลามจะไม่ได้รับการเหลียวแล
มาตรา 67 เขียนเอาไว้แบบนี้... "รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น
ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา ไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการหรือกลไกดังกล่าวด้วย"
ต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมามีกระแสต้านอิสลาม คัดค้านการสร้างมัสยิดในหลายจังหวัดของประเทศ จากความเชื่อและข่าวลือว่าอิสลามกำลังรุกคืบในประเทศไทย ผนวกกับกระแสหวาดกลัวอิสลามจากสถานการณ์การก่อการร้ายระดับโลก แทนที่ กรธ.จะเขียนรัฐธรรมนูญโดยให้น้ำหนักทุกศาสนาอย่างเท่าเทียมกัน แต่กลับเขียนออกมาเช่นนี้ จึงไม่แปลกที่พี่น้องมุสลิมจะรู้สึกน้อยใจ หรือไม่พอใจมาตรา 67
สอง คือ การเขียนให้รัฐอุดหนุนการศึกษา หรือเรียนฟรีถึงแค่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จุดนี้ทำให้โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาเกรงว่าจะได้รับผลกระทบ เพราะได้รับเงินอุดหนุนรายหัวนักเรียนหัวละกว่า 14,000 บาทต่อคนต่อปี หากถูกตัดเงินส่วนนี้ ก็ต้องสูญรายได้มหาศาล และย่อมกระทบกับคุณภาพทางการศึกษาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
แม้ภายหลังจะมีคำสั่งหัวหน้า คสช.กำหนดนโยบายให้เรียนฟรีถึงมัธยมศึกษาตอนปลายเช่นเดิม แต่กระแสต้านก็ฉุดไม่อยู่
สาม คือ กลุ่มการเมืองที่อยู่ตรงข้ามรัฐบาล คสช. เคลื่อนไหวอย่างหนักเพื่อสร้างกระแส "ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ" โดยใช้เหตุผล 2 ข้อแรก ซึ่งก็ถือว่าฟังขึ้น ตัวเลขไม่รับทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงจึงออกมาอย่างที่เห็น
ทั้งผลคะแนนประชามติที่ออกมา และสถานการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้น เป็นเครื่องบ่งชี้ว่าปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ยังคงอ่อนไหวอย่างยิ่ง โดยเฉพาะประเด็นความรู้สึก ผู้คนจำนวนไม่น้อยยังเชื่อว่า "รัฐ" เข้าไม่ถึงหัวจิตหัวใจของพวกเขา
และ "รัฐ" ยังมิอาจควบคุมพื้นที่ได้จริง พิจารณาจากเหตุรุนแรงหลายสิบจุดที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นรูปแบบการระเบิดที่เรียกว่า "วางแบบเร่งด่วน" ไม่ได้เตรียมแผนหรือมุ่งสร้างความเสียหายขนาดใหญ่ก็ตาม แต่ฝ่ายผู้ก่อการก็ยังถือว่ามีเสรีในการปฏิบัติมากระดับหนึ่ง
ทั้งหมดนี้จึงพอสรุปได้ว่า สถานการณ์ที่ชายแดนใต้ยังคงเป็นโจทย์ข้อยากหากคิดจะดับไฟความขัดแย้งให้ได้จริงตามที่โฆษณา
No comments:
Post a Comment