มีเสียงดังก้องจากชาวตำรวจหลายราย ผ่านมายังคอลัมน์นี้ เพื่อขอร่วมวงถกเถียงคดีสลายม็อบ 7 ตุลาคม 2551 ซึ่งผู้นำรัฐบาลและผู้นำตำรวจถูกฟ้องร้องกล่าวหา โดยเน้นย้ำว่าคดีนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานให้รัฐบาลชุดต่อๆ ไปต้องยึดถือเป็นแนวทาง
จึงน่าเป็นห่วงว่า จะกระทบต่อชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิเสรีภาพในการเคลื่อนไหวชุมนุมอย่างถูกกฎหมาย
รวมทั้งกระทบต่อขวัญกำลังใจของตำรวจด้วย
คิดง่ายๆ ว่า ถ้าคดี 7 ตุลาคม 2551 เป็นปฏิบัติการด้วยตำรวจปจ. ใช้เพียงแก๊สน้ำตา ป.ป.ช.สรุปว่ามีความผิด
ขณะที่คดี 99 ศพ เมษายน-พฤษภาคม 2553 ใช้เจ้าหน้าที่กองทัพพร้อมกระสุนจริง ป.ป.ช.สรุปว่าไม่มีความผิด
แล้วต่อไปเมื่อมีการชุมนุมประท้วงทางการเมือง รัฐบาลจะใช้แนวทางไหน!?!
ตำรวจที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 2551 ยืนยันว่า รัฐบาลและผู้บังคับบัญชา สั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่ควบคุมฝูงชน ตามแผนกรกฎ 48 ไม่มีอาวุธ อดทนอดกลั้น
แต่ในทางกลับกัน มีตำรวจถูกทำร้ายได้รับบาดเจ็บ 41 ราย ปรากฏในรายงานของโรงพยาบาลตำรวจชัดเจน
บางราย เช่น ด.ต.ทวีป กลั่นเนียม ถูกเหล็กแหลมแทงที่ชายโครงขวา บาดเจ็บสาหัส แพทย์ระบุว่าหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจถึงแก่ความตายได้
อีกทั้งต่อมาศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 9 ตุลาคม 2551 วินิจฉัยว่า การกระทำของผู้ชุมนุมนั้นผิดกฎหมาย ไม่สงบและมีอาวุธ
ขณะที่การปฏิบัติของตำรวจ เป็นไปตามมติครม.เมื่อปี 2535 และเป็นไปตามหลักปฏิบัติที่ใช้ในนานาประเทศ
ส่วนการที่มีผู้ชุมนุมเสียชีวิต 2 ราย ควรจะต้องมีการสืบสวนสอบสวนหาตัวผู้กระทำผิดที่ชัดเจน
ข้อกล่าวหาที่ว่าตำรวจใช้แก๊สน้ำตารุนแรงจนเสียชีวิตนั้น จะต้องพิสูจน์ด้วยหลักวิทยาศาสตร์!
โดยมีการตรวจพิสูจน์สภาพศพของผู้เสียชีวิตไปแล้วว่า สภาพบาดแผลมีสารซีโฟร์
แต่การตรวจแก๊สน้ำตามีแต่สารอาร์ดีเอ็กซ์ ไม่มีซีโฟร์ โดยอาร์ดีเอ็กซ์ไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตได้
ดังนั้นต้องทำคดีผู้เสียชีวิต 2 รายตามหลักกฎหมายให้แน่ชัด
มิใช่คลุมเครือแล้วกล่าวหาว่าเพราะแก๊สน้ำตา แล้วกล่าวโทษผู้สั่งการระดับรัฐบาลและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ!
ขอยืนยันว่า ตำรวจปฏิบัติไปตามแผนกรกฎ 48 มุ่งควบคุมฝูงชน มิใช่การมุ่งทำอันตรายต่อชีวิตและร่างกายผู้ชุมนุม
ขณะเดียวกันทั้งมติก.ตร. ทั้งคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 93/2527 ให้ยกโทษและคืนตำแหน่งให้กับพล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ
เป็นกรณีชี้ว่าคดีได้ถึงที่สุดแล้ว โดยไม่มีความผิด
ทั้งหมดนี้สมควรอย่างยิ่งที่ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันจะนำมารวบรวมเพื่อตัดสินใจให้ถูกต้อง
นี่คือมุมมองจากฝ่ายตำรวจในคดีที่จะต้องยึดเป็นหลักปฏิบัติต่อไป!
No comments:
Post a Comment